สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดแถลงผลงานครบรอบ 1 ปี โครงการ "กองทุนอินโนเวชั่นวัน" (Innovation ONE) เพื่อตอกย้ำความสำเร็จในการยกระดับผู้ประกอบการ SMEs และสตาร์ทอัพไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลก โดย 1 ปีที่ผ่านมา โครงการ ?กองทุนอินโนเวชั่นวัน? ได้พิจารณาการสนับสนุนทุนให้แก่ผู้ประกอบการมากกว่า 360 ล้านบาท ภายในงานได้รับเกียรติจากนางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีกล่าวเปิด พร้อมด้วยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าววัตถุประสงค์ของงาน และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวถึงความร่วมมือ ณ ห้องประชุม 210-211 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
โครงการ ?กองทุนอินโนเวชั่นวัน? เป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในกรอบงบประมาณ 1,000 ล้านบาท สำหรับการดำเนินการระยะเวลา 3 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมทั้งที่เป็นสตาร์ทอัพและ SMEs ให้เติบโตด้วยการนำงานวิจัยและความคิดสร้างสรรค์ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน อันนำไปสู่การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในภูมิภาค
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ผู้ประกอบการนวัตกรรมถือเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย และเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการเติบโตที่สามารถสร้างเม็ดเงินจำนวนมหาศาลในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน และสามารถยกระดับภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า โดยกระทรวง อว. มุ่งเน้นการส่งเสริม สนับสนุน สร้างสรรค์นวัตกรรม และผลักดันให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมมีความแข็งแกร่ง มุ่งสู่การพัฒนาประเทศให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
โครงการนี้ถือเป็นแนวคิดใหม่ที่กระทรวง อว. มั่นใจว่าจะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมของประเทศผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐ และความร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่สำคัญ ผู้ประกอบการนวัตกรรมของไทยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสในการเข้าถึงตลาดในภาคอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากผู้ประกอบการจะได้ลูกค้าแล้ว ลูกค้า คือ ภาคอุตสาหกรรม ก็จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นจากนวัตกรรมของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการด้วย
?ดิฉันมีความเชื่อมั่นว่าโครงการ "กองทุนอินโนเวชั่นวัน" จะเป็นต้นแบบความสำเร็จของการนำจุดแข็งและกลไกของเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนงานของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยให้เติบโต และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรมอย่างแท้จริง? นางสาวศุภมาส กล่าว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล กล่าวว่า คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) มีหน้าที่กำหนดทิศทางและบริหารกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อให้เกิดการนำวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ไปใช้ขับเคลื่อนประเทศ และเพื่อทดลองรูปแบบการบริหารทุนวิจัยโดยภาคเอกชนและเกิดการระดมทุนจากภาคเอกชนสมทบ กสว. จึงจัดสรรงบประมาณในกรอบ 1,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี ภายใต้โครงการ ?กองทุนอินโนเวชั่นวัน? ซึ่งเป็นช่องทางที่ผู้ประกอบการ
สามารถได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุน ววน. เพื่อใช้ในการพัฒนาหรือประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และมี ส.อ.ท. ทำหน้าที่บริหารจัดการและระดมทุนจากเอกชนเข้ามาในโครงการ โดยมีเป้าหมายในการสร้างกลไกและสนับสนุนให้เกิดการนำนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ ไปยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SME โดยมี ส.อ.ท. เป็นผู้เชื่อมให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสตาร์ทอัพกับ SME ขึ้น ซึ่งกลไกการทำงานที่เป็นจุดเด่นของโครงการนี้ คือ การบริหารจัดการโดยเอกชนเป็นผู้นำ ภาครัฐเป็นส่วนสนับสนุน เพราะภาคเอกชนเข้าใจโจทย์และความต้องการนวัตกรรมที่ใช้ตลาดเป็นตัวตั้ง มีการประเมินความเป็นไปได้ของนวัตกรรมโดยนักธุรกิจ และมีการบริหารจัดการที่คล่องตัว
?การดำเนินงานของโครงการกองทุนอินโนเวชั่นวัน ถือเป็นโมเดลความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนรูปแบบหนึ่งในการเปลี่ยนงานวิจัยขึ้นหิ้งเป็นงานวิจัยขึ้นห้าง ซึ่ง กสว. จะถอดวิธีการทำงานในลักษณะนี้ เพื่อใช้ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป และขณะนี้ กสว. อยู่ระหว่างจัดทำประเด็นเป้าหมายสำคัญที่จะขับเคลื่อนในระยะ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นประเด็นที่ตอบโจทย์ปัญหาสำคัญและการพัฒนาประเทศ จึงต้องร่วมมือกับ ส.อ.ท. ในการขับเคลื่อนให้ผลงาน ววน. ถูกนำไปใช้และเกิดผลสัมฤทธิ์ที่นำไปสู่การยกระดับความสามารถในภาคอุตสาหกรรม เกิดการสร้างรายได้ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในประเทศต่อไป? ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นายแพทย์สิริฤกษ์ กล่าว
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา โครงการ ?กองทุนอินโนเวชั่นวัน? ได้ร่วมกับ VC Partners ภาคเอกชน 4 ราย ได้แก่ บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) และบริษัท ออริกจิน เวนเจอร์ส จำกัด ในการสนับสนุนทุนแก่ผู้ประกอบการสายนวัตกรรมทั้งที่เป็นสตาร์ทอัพและ SMEs ซึ่งเราได้พิจารณาการสนับสนุนทุนให้แก่ผู้ประกอบการมากกว่า 360 ล้านบาท
โครงการไม่เพียงแต่สนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการสายนวัตกรรมเท่านั้น แต่ได้มอบโอกาสให้กับผู้ประกอบการในการเข้าสู่ตลาด ซึ่งครอบคลุมทั้ง 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ ภายใต้การดูแลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการจะได้มีโอกาสทดลอง ทดสอบ รวมทั้งพัฒนาเทคโนโลยีและการทำธุรกิจ รวมถึงได้รับคำแนะนำในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและเทคนิคการทำธุรกิจให้สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
?ตลอดระยะเวลา 1 ปี ได้สะท้อนให้เห็นว่าแกนหลักที่ทำให้โครงการประสบผลสำเร็จได้นั้น คือ 3C ซึ่งประกอบด้วย Cash เราสนับสนุนเงินลงทุน Connect เราเชื่อมต่อเครือข่ายเพื่อให้เข้าสู่ตลาด และ Coach เราให้คำแนะนำในการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และแนวทางการทำธุรกิจ ผมเชื่อมั่นครับว่า 3C นี้ จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมธุรกิจของผู้ประกอบการไทยไปสู่ธุรกิจที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน และนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและยั่งยืน? นายเกรียงไกร กล่าว
ภายในงาน มีการจัดเสวนากับผู้ประกอบการร่วมกับ VC Partner ที่มาบอกเล่าความสำเร็จและประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ยูนิฟาร์ส จำกัด บริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอ็มยูไอ โรบอติกส์ จำกัด บริษัท เอ็นจินไลฟ์ จำกัด บริษัท ซียูเอ็นเทอร์ไพรส์ จำกัด บริษัท รักษ์ป่าสัก จำกัด และบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)
นอกจากนี้ ยังมีการจัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับบริษัท วิสอัพ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ร่วมสนับสนุนทุนรายใหม่ โดยบริษัท วิสอัพ จำกัด จะเข้ามาช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรม ผ่านการใช้เทคโนโลยีของสตาร์ทอัพไทย
สำหรับแผนการดำเนินงานในอนาคต โครงการ ?กองทุนอินโนเวชั่นวัน? จะดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ทั่วทั้ง 5 ภาค เพื่อเพิ่มการเข้าถึงโครงการมากขึ้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่ภาคธุรกิจสตาร์ทอัพและ SMEs ไทยให้สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน