สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. สืบสานและส่งต่อภูมิปัญญางานศิลปหัตถกรรมแห่งชาติพันธุ์มละบริ ผ่านการยกย่องเชิดชู ?นางอรัญวา ชาวพนาไพร? เป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2567 ประเภทเครื่องจักสาน ที่สืบสานและสร้างสรรค์งานกระเป๋าถักมือจากเถาวัลย์ป่า ให้เป็นงานคราฟต์โดนใจสายแฟที่แคร์โลก
ชาติพันธุ์มละบริ หรือที่เป็นที่รู้จักและถูกเรียกขานว่า ?ชาวตองเหลือง? ตั้งถิ่นฐานในจังหวัดแพร่และน่าน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความผูกพันกับธรรมชาติและผืนป่า มีความสามารถพิเศษในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งอาหาร ที่อยู่อาศัย ยา และข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ล้วนได้มาจากป่าทั้งสิ้น รวมถึงภูมิปัญญาในงานศิลปหัตถกรรม เพราะมีการผลิตของใช้ในชีวิตประจำวัน เรียกว่า ?ญอก? หรือ ?ย่าม? ปัจจุบัน ภูมิปัญญาเหล่านี้ได้ถูกส่งต่อจากบรรพบุรุษรุ่นสู่รุ่น และมีการปรับประยุกต์รูปแบบ สร้างสรรค์เป็นงานหัตถกรรมที่มีความร่วมสมัยโดย ?อรัญวา ชาวพนาไพร ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2567?
อรัญวา กล่าวว่า ญอก หรือกระเป๋าถักจากเถาวัลย์ป่า เป็นเครื่องใช้อย่างหนึ่งที่จำเป็นกับการดำรงชีวิต เพราะเมื่อต้องย้ายถิ่นฐานเรื่อย ๆ ก็จำเป็นที่จะต้องมีญอกไว้ใช้ใส่ของ รวมถึงเอาไว้ใส่เด็กเล็กสะพายหลังเพื่อออกเดินทาง ดังนั้น สตรีชาวมละบริจึงมีความสามารถและทักษะในการหาเถาวัลย์ในป่าเพื่อมาถักเป็นญอก โดยวิธีการทำจะต้องลอกเปลือกเถาวัลย์เพื่อทำเส้นใย (เส้นทะแป๊ต) ย้อมสีเส้นด้วยเปลือกไม้ แล้วถักสานเส้นเป็นกระเป๋าขนาดต่าง ๆ ซึ่งข้อดีของเถาวัลย์ คือมีความเหนียว ทนทานทำให้เครื่องใช้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากขึ้น แต่ในความทนทานก็ต้องแลกมากับความยากมากขึ้น ที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญของช่างฝีมือมาถักทอชิ้นงานให้มีความสวยงาม เมื่อกาลเวลาผ่านไป การใช้ญอกลดจำนวนลง อรัญวาจึงมีแนวคิดในการสืบสานมรดกทางภูมิปัญญาในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน จึงได้มีการปรับประยุกต์รูปแบบ ดีไซน์ เพื่อให้ร่วมสมัยมากขึ้น สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ โดยมีการรวมกลุ่มคนในชุมชนร่วมกันสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกำไรข้อมือ ต่างหู กระเป๋าใส่ดินสอ กระเป๋าใส่โทรศัพท์ กระเป๋ารูปแบบต่าง ๆ แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นมละบริ ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษให้คงอยู่สืบต่อไป