หลาย ๆ คนอาจเคยมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกข้นเสมหะไหลลงคอ อาการคล้าย "ไข้หวัด" แต่เป็น ๆ หาย ๆ สร้างความรำคาญในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก ซึ่งอาการเหล่านี้ทำให้หลาย ๆ คนเข้าใจผิดคิดว่า ตัวเองเป็น "หวัดเรื้อรัง" หรือเป็นภูมิแพ้ แต่เมื่อไปพบแพทย์จึงรู้ว่าเป็น "ไซนัสอักเสบ" ดังนั้นใครก็ตามที่มีอาการดังกล่าวไม่ควรปล่อยไว้นาน เพราะโรคไซนัสอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมาได้
พญ.วรรนธนี อภิวัฒนเสวี แพทย์ผู้ชำนาญการด้านโสต ศอ นาสิกวิทยา กล่าวว่า "โรคไซนัสอักเสบ" เป็นโรคของการอักเสบในบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกและโพรงอากาศข้างจมูกซึ่งมักมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย การได้รับสารก่อภูมิแพ้หรือสารระคายเคืองต่าง ๆ โดยโรคไซนัสอักเสบแบ่งตามระยะของโรคได้ดังนี้ 1.โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันจะมีอาการน้อยกว่า 4 สัปดาห์ อาการที่ใช้ในการวินิจฉัยประกอบด้วย อาการอย่างน้อย 2 อาการขึ้นไปจาก 4 อาการ ได้แก่ อาการคัดแน่นจมูก, น้ำมูกไหล/น้ำมูกไหลลงคอด้านหลัง, อาการปวดใบหน้า หรือมีการรับกลิ่นลดลง 2.โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังจะมีอาการตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และอาจมีอาการแบบเฉียบพลันแทรกเป็นระยะ ๆ ได้ ซึ่งหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยมักพบอาการไข้ น้ำมูกเปลี่ยนสี มีกลิ่นเหม็น หรืออาการปวดใบหน้า/ปวดฟันบนที่รุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น
สำหรับการรักษา "โรคไซนัสอักเสบ" แพทย์จะให้การวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุของการอักเสบติดเชื้อ เช่น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส ส่วนใหญ่มักจะรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ปวด ยาลดคัดจมูก ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือหรือให้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก ส่วนไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะมีการรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะนานประมาณ 10-14 วัน แต่สำหรับในรายที่ผู้ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังก็จะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างออกไป เช่น มีการตรวจทดสอบภูมิแพ้เพื่อหาสิ่งกระตุ้น หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) บริเวณโพรงไซนัส เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคในกรณีที่การรักษาด้วยยาอาจไม่ได้ผลหรือมีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ จากการอักเสบติดเชื้อ
พญ.วรรนธนี ให้ข้อมูลต่อว่า ในปัจจุบันนอกจากการรับประทานยาหรือพ่นยาทางจมูกแล้ว การรักษาอื่นของผู้ป่วย "โรคไซนัสอักเสบ" ที่ได้ผลดีคือ การผ่าตัดส่องกล้อง หรือที่เรียกว่า Endoscopic Sinus Surgery (ESS) เป็นขั้นตอนการผ่าตัดขนาดเล็กในโพรงจมูก เพื่อการรักษาไซนัสอักเสบเรื้อรังและอาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโพรงไซนัส โดยจะแตกต่างจากการผ่าตัดไซนัสแบบดั้งเดิมที่มีการเปิดแผลจากภายนอกและเสียเลือดในปริมาณที่มากกว่า ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องนั้นจะทำผ่านทางรูจมูกโดยใช้กล้องเอนโดสโคปที่มีลักษณะเป็นท่อขนาดเล็ก สอดผ่านเข้าไปในช่องจมูกเพื่อให้เห็นภาพความผิดปกติบริเวณรูเปิดต่าง ๆ ในโพรงจมูกและไซนัสได้อย่างชัดเจน ช่วยให้การผ่าตัดเป็นไปด้วยความละเอียดถูกต้องแม่นยำและยังทำให้ฟังก์ชันการทำงานของไซนัสกลับเป็นปกติ
พญ.วรรนธนี กล่าวปิดท้ายว่า การผ่าตัดส่องกล้องเป็นวิธีที่นิยมมากในปัจจุบัน เพราะไม่มีบาดแผลภายนอก ฟื้นตัวเร็ว เสียเลือดน้อย เจ็บแผลในจมูกเพียงเล็กน้อย หลังผ่าตัดเสร็จผู้ป่วยสามารถกลับมาทำกิจกรรมตามปกติได้ภายในไม่กี่วัน สำหรับการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดส่องกล้องรักษาไซนัสนั้น แพทย์เฉพาะทางด้าน หู คอ จมูก จะทำการประเมินร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งหากมีโรคประจำตัวหรือทานยาใด ๆ เป็นประจำควรต้องแจ้งข้อมูลกับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้ง เพราะอาจมีความจำเป็นต้องหยุดยาบางชนิดก่อนผ่าตัด เพื่อลดความเสี่ยงเลือดออกจากแผลหลังผ่าตัด
สิ่งสำคัญอื่นๆ คือ เรื่องการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด รับประทานยา/พ่นยาและล้างจมูกตามคำแนะนำของแพทย์ งดดื่มสุราและสูบบุหรี่ งดออกกำลังกายหนักประมาณ 2 สัปดาห์ หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นควันและสารระคายเคือง ทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด พักผ่อนให้เพียงพอ และต้องมาตรวจติดตามอาการกับแพทย์ทุกครั้งตามที่นัดหมาย