ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม เลขาธิการคุรุสภา เปิดเผยว่า จากนโยบาย ?เรียนดี มีความสุข? ของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มุ่งเน้นให้เกิดคุณภาพการศึกษาที่เป็นเลิศและความมั่นคงในชีวิตผู้เรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา โดยสถาบันคุรุพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนงานด้านวิชาการชั้นสูงของวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีแนวนโยบายที่จะยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาให้มีความลุ่มลึกในการประกอบวิชาชีพ โดยเฉพาะครูประถมศึกษา ซึ่งเป็นเสาหลักและรากฐานในการพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนที่ดำเนินการภายใต้แนวคิด ?กลุ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของครูประถมศึกษา หรือ The Academy of Elementary Teacher? ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผู้เชี่ยวด้านการประถมศึกษา ประกอบด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ ครู และศึกษานิเทศก์ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการพัฒนาผลลัพธ์การเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านกิจกรรม 3 ระยะ ได้แก่ ระยะ 1 ค้นหาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับครูประถม (Research) ผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนา เพื่อศึกษาองค์ความรู้ และสมรรถนะครูประถมศึกษายุคใหม่ สังเคราะห์รูปแบบการพัฒนาสมรรถนะครูประถมศึกษายุคใหม่ และจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการพัฒนาสมรรถนะครูประถมศึกษายุคใหม่
เลขาธิการคุรุสภา กล่าวต่อไปว่า ส่วน ระยะ 2 การเผยแพร่ถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านวิธีการ ช่องทางต่าง ๆ (knowledge sharing and Learning) โดยเฟ้นหาแนวปฏิบัติที่ดีและครูผู้เป็นต้นแบบมาร่วมจัดทำคลิปสั้น เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เพื่อนครู และระยะ 3 การประชุมวิชาการ (International Conference) โดยเปิดเวทีให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้ที่สนใจได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาทั้งในระดับชาติและนานาชาติรูปแบบผสมผสานทั้ง Onsite และ Online อย่างไรก็ตามในเดือนสิงหาคม 2567 คุรุสภาจะมีกิจกรรมเปิดตัว ?The Academy of Elementary Teacher? อย่างเป็นทางการและจะมีการเปิดเวทีให้ครูประถมศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถติดตามและเข้าร่วมกิจกรมได้ที่สื่อสังคมออนไลน์ของคุรุสภาและสถาบันคุรุพัฒนา ได้ในทุกช่องทาง
?The Academy of Elementary Teacher เป็นกลไกและเครื่องมือของระบบการศึกษาและเป็นส่วนสำคัญสำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการประถมศึกษาเป็นการศึกษาภาคบังคับที่ทุกประเทศต้องดำเนินการให้มีผลสัมฤทธิ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs.4.1) อีกทั้งเป็นระดับการศึกษาที่ต่อเนื่องจากระดับปฐมวัย ส่งต่อไปยังระดับมัธยมศึกษา ส่วนผู้ที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษามีภารกิจหลักในด้านรอยเชื่อมต่อ (Transition) ของการศึกษาทั้งสองระดับ โดยมีครูประถมศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนในช่วงอายุ ระหว่าง 6 ? 12 ปี ซึ่งต้องมีการพัฒนาร่างกาย จิตใจ สติปัญญาและอุปนิสัย สังคมและวัฒนธรรม ด้วยการบูรณาการการเรียนรู้ ดังนั้นครูประถมศึกษาซึ่งทำหน้าที่ดังกล่าวจะต้องมีความสามารถในการจัดการเรียนรู้พื้นฐานความรู้ได้หลายวิชาและเอื้อต่อการเชื่อมโยงเนื้อหาวิชา ทักษะ เจตคติ และคุณค่าของแต่ละวิชาเข้าด้วยกัน นอกจากนี้ครูประถมศึกษาต้องเป็นครูที่รู้รอบในเนื้อหาวิชาพื้นฐานต่าง ๆ มีความสามารถจัดการเรียนรู้ โดยนำศาสตร์วิชาครูสู่การปฏิบัติ มีวิธีการสอนเฉพาะที่จะทำให้เด็กประถมศึกษาเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ ขณะเดียวกันครูต้องมีการอบรมบ่มนิสัย เอาใจใส่อย่างใกล้ชิด และดูแลช่วยเหลือเด็กอย่างเต็มศักยภาพ ที่สำคัญครูประถมศึกษายังเป็นบุคคลที่จะพัฒนาผู้เรียนให้เรียนดี มีความสุข และจะเป็นผู้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอนาคตด้วย? ผศ.ดร.อมลวรรณ กล่าว.