กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี ๒๕๕๑ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน ที่มีโอกาสเกิดขึ้น ในประเทศไทยช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑ พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงาน และมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี ๒๕๕๑ การช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย การฟื้นฟูบูรณะ สิ่งสาธารณประโยชน์ให้คืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี ๒๕๕๑ กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลนนาร์กีสโดยตรง แต่ความสูญเสียที่เกิดขึ้น บ่งชี้ให้เห็นว่า สภาวะอากาศของโลกค่อนข้างแปรปรวน โดยเฉพาะอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เปลี่ยนแปลงมาก ทำให้พายุก่อตัวง่ายและรุนแรงมากขึ้น และจากการติดตามแนวโน้มการเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อน พบว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๑ มีความเป็นไปได้สูงที่พายุดังกล่าว จะเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยทางภาคตะวันตกของประเทศ ตั้งแต่ภาคเหนือบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาถึงภาคใต้บริเวณจังหวัดภูเก็ต หากพายุเคลื่อนตัว ผ่านเข้าทางตอนบนของประเทศ ก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีกั้น แต่หากพายุเคลื่อนตัวเข้าทางภาคใต้ของประเทศจะมีความรุนแรงและอันตรายมาก เนื่องจากไม่มีภูเขาหรือเกาะที่ช่วยลดแรงปะทะ ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับผลกระทบจากปริมาณฝนที่ตกหนักจนทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่า ไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง หรือดินถล่ม ในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณที่ราบลุ่ม หรือบริเวณใกล้ภูเขา ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ ที่อาจเกิดขึ้น กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี ๒๕๕๑ ขึ้น ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และได้กำหนดจัดประชุมในวันพุธที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๓๕๒ อาคาร ๓ ชั้น ๕ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสิทธิชัย โควสุรัตน์) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน มาตรการและการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี ๒๕๕๑ การให้ช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย การฟื้นฟูบูรณะสิ่งสาธารณประโยชน์ให้คืนสู่สภาพเดิม รวมทั้งการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ นอกจากนี้ ได้สั่งการให้จังหวัดจัดตั้งศูนย์อำนวยการ เฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่มระดับจังหวัด / อำเภอ / องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ โดยให้ดำเนินการตรวจสอบ ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย พื้นที่ปลอดภัย เพื่อจัดทำแผนเฉพาะกิจฯ จัดวางระบบการเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัย และ แผนอพยพที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ภัยในพื้นที่ ตลอดจนจัดเตรียมกำลังคน ยานพาหนะ เครื่องมือสื่อสาร วัสดุอุปกรณ์ในการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยที่พร้อมใช้งานทันทีที่เกิดภัย
นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ได้มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการดำเนินงานเตรียมความพร้อม การวางแผน กำหนดเส้นทางอพยพ และร่วมกันเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ตามแนวทางการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน โดยขณะนี้ ได้ติดตั้งเครื่องไซเรนมือหมุน จำนวน ๑,๑๖๑ เครื่อง เครื่องวัดปริมาณน้ำฝน จำนวน ๑,๓๕๓ เครื่อง ในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม และได้ฝึกอบรมอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) ไปแล้ว ๑,๕๗๕ หมู่บ้าน จำนวน ๒,๘๕๒ คน เพื่อทำหน้าที่ เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนภัย และช่วยอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยพิบัติดังกล่าวได้อย่างแน่นอน