กรมอนามัย ชูสังคมนมแม่ ทารกได้กินนมแม่ ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด และกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก

ข่าวทั่วไป Monday August 19, 2024 16:49 —ThaiPR.net

กรมอนามัย ชูสังคมนมแม่ ทารกได้กินนมแม่ ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด และกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน KICK OFF รวมพลังภาคีเครือข่ายปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนสังคมนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก หลังคลอด พร้อมด้วย แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงนงนุช ภัทรอนันตนพ รองอธิบดีกมอนามัย นายแพทย์ปกรณ์ ตุงคะเสรีรักษ์ ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ ผู้บริหารจากกรมอนามัย ผู้บริหารจากมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และภาคีเครือข่ายร่วมงาน ณ โรงแรมทีเค. พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ในปี 2565 พบว่ามีทารกไทยร้อยละ 29.4 ได้กินนมแม่ ภายใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด และมีเพียงร้อยละ 28.6 ที่ได้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต ยิ่งไปกว่านั้น มีทารกเพียงร้อยละ 18.7 ที่ได้กินนมแม่ต่อเนื่องถึง 2 ปี ซึ่งการให้นมแม่ถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกของการวางรากฐานคุณภาพชีวิตของคน นมแม่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมการเจริญเติบโต ส่งเสริมพัฒนาการทั้งกายและใจ ลดการเสียชีวิตของมารดาและทารกหลังคลอด อีกทั้ง นมแม่ยังมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะนมแม่เป็นอาหารจากธรรมชาติที่แท้จริง ไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติหรือผ่านกระบวนการผลิตใด ๆ

?กรมอนามัยได้เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงกำหนดนโยบาย มาตรการและดำเนินงานเพื่อปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มาอย่างต่อเนื่องร่วมกับภาคีเครือข่าย ทุกภาคส่วน ดังนี้ 1) การขับเคลื่อนพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิและสุขภาพของเด็กทุกคนไม่ให้เสียโอกาสในการกินนมแม่ผ่านการควบคุมวิธีการโฆษณาและการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กให้เหมาะสม 2) การขับเคลื่อนการจัดบริการตามมาตรฐานโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก โดยจัดระบบบริการที่มีคุณภาพให้แก่แม่และครอบครัว แม่จะได้รับการดูแลและเตรียมพร้อมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอด และกลับไปสู่ในชุมชน โดยเฉพาะใน 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ลูกควรได้กินนมแม่ทันที เพราะนอกจากลูกจะได้ความอบอุ่นผ่านการโอบกอดแล้ว ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการกระตุ้นให้เซลล์สมองที่มี 100 ล้านล้านเซลล์เกิดการเชื่อมต่ออย่างรวดเร็ว และเริ่มกระบวนการผลิตน้ำนม จะช่วยเพิ่มโอกาสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ ในช่วงเวลาพิเศษนี้เราเรียกว่า ?ชั่วโมงทอง? และ 3) การผลักดันนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยขับเคลื่อนนโยบายการลาคลอด 180 วัน การจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการสำหรับแม่ที่ต้องการบีบเก็บน้ำนมในเวลาทำงาน รวมถึงการจัดบริการขนส่งนมแม่โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่ออำนวยความสะดวกในการส่งน้ำนมแช่แข็งและช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง และเน้นย้ำในช่วง 6 เดือนแรกลูกต้องได้กินนมแม่ล้วนโดยไม่ต้องผสมน้ำ? อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ด้าน แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยร่วมมือกับกรมอนามัยและภาคีเครือข่าย ได้รณรงค์ให้เด็กไทยได้กินนมแม่มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรกเกิด เพิ่มจากร้อยละ 5.4 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 12.3 ในปี 2555 , ร้อยละ 23.1 ในปี 2559, ร้อยละ 14 ในปี 2562 และ ร้อยละ 28.6 ในปี 2565 ตามลำดับ ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก ร้อยละ 44 และประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ร้อยละ 66 พม่าและอินโดนีเซีย ร้อยละ 51 ลาว ร้อยละ 44 และมาเลเซีย ร้อยละ 40 ซึ่งยังห่างจากเป้าหมายองค์การอนามัยโลก ร้อยละ 50 ภายในปี 2568

แพทย์หญิงศิริพร กล่าวต่อไปว่า มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยและกรมอนามัยจึงได้เชิญภาคีเครือข่ายมาร่วมเสวนาเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วงเดือนมิถุนายน 2566 โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนคือ?เพิ่มอัตรานมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก? ตามเป้าหมายองค์การอนามัยโลก ทั้งนี้ เพื่อให้ ?เด็กไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากนมแม่ โดยเฉพาะ ป่วยตายน้อยลง ฉลาดทางอารมณ์และสติปัญญาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ แข่งขันกับนานาชาติได้ ไม่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเศรษฐกิจประเทศ? ซึ่งนับเป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่ามากที่สุด โดยเน้นการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวล้วน ๆ ไม่เสริมแม้แต่น้ำ เนื่องด้วยเด็กไทยช่วงอายุ 6 เดือนแรก มากกว่าร้อยละ 40 ได้กินนมแม่ แต่เสริมน้ำ จึงทำให้ได้รับสารอาหารไม่พอเพียงกับความต้องการของเด็ก ?เมื่อเดือนกันยายน 2566 จึงเกิดพิธีลงนาม MOU 14 หน่วยงาน โดยมีพันธสัญญาว่าจะเป็น Active MOU โดยแต่ละหน่วยงาน/องค์กรขับเคลื่อนในภารกิจประจำของตนเอง และนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หาแนวทางร่วมมือกันเพื่อขยายวงกว้าง ดังเช่นกิจกรรมในวันนี้ และคาดว่าจะมีครั้งต่อไป ภายในสิ้นปีนี้ และกลางปี 2568 เพื่อเป้าหมายเร่งด่วน ?เพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนแรก เป็นร้อยละ 50 ภายในปี 2568? โดยยังคงขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป้าหมายระยะยาวคือ ?การเลี้ยงด้วยนมแม่เป็นวิถีแห่งแม่ เป็นค่านิยมของสังคมและวัฒนะธรรมชาติอย่างยั่งยืน? ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ