นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม. กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมสถานพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์ หากเกิดการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (MPOX) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า สนอ. ได้ประสานความร่วมมือกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (MPOX) ภายหลังองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศที่น่ากังวล ขณะเดียวกันได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลสังกัด กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์หากเกิดการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง (MPOX) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับลักษณะอาการ การแพร่เชื้อ รวมถึงให้คำแนะนำวิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว หรือย่านพักอาศัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากกลุ่มประเทศแอฟริกา โดยในระยะฟักตัว 7 - 21 วัน ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการไข้ และผื่น จะเริ่มจากตุ่มแดง ประมาณ 5 - 7 วันหลังรับเชื้อ และตุ่มจะเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง และแห้งเป็นสะเก็ด ตุ่มมีจำนวนมากน้อยตามความรุนแรงของโรค และการตอบสนองของผู้ป่วย รวมระยะเวลาประมาณ 2 - 4 สัปดาห์
การแพร่กระจายเชื้อและการติดต่อส่วนใหญ่โดยการสัมผัสผื่นผู้ป่วยโดยตรงในระยะแพร่เชื้อ หรือสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยยืนยันอาจติดต่อทางละอองฝอยได้ โดยเฉพาะหากมีการทำหัตถการที่ทำให้เกิดละอองฝอยขนาดเล็ก (contact transmission & droplet transmission) หากพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อ (suspected case) ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้แจ้งทีมสอบสวนโรคในพื้นที่ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และสำนักอนามัย กทม. ขณะที่การรักษาเป็นแบบประคับประคองตามอาการของผู้ป่วย เช่น ลดไข้ ลดอาการไม่สบายจากตุ่มหนอง และดูแลไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ต้องแยกกักผู้ป่วย 21 วัน ส่วนการรักษาจำเพาะ ยาต้านไวรัสจำเพาะเป็นยาที่ใช้ในการรักษาอยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย ได้แก่ ยา Tecovirimat (TPOXX) ซึ่งมีจำนวนจำกัด และให้ในรายที่ป่วยรุนแรงเท่านั้น