นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อต่อยอดความร่วมมือ ที่มีต่อกันมายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ โดยเฉพาะด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และการส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ทอัพสู่เวทีสากล รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการเข้าร่วมงานนิทรรศการที่ประเทศญี่ปุ่น การส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการญี่ปุ่นในประเทศไทย และการจัดงานเจรจาจับคู่ธุรกิจไทย - ญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและขยายช่องทางดำเนินธุรกิจร่วมกัน
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงานและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อยกระดับการผลิตและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ รวมถึงรณรงค์ให้ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ยุคอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) เพื่อสนับสนุนการเติบโตแบบสมดุลและยั่งยืน อีกทั้งยังเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพและแนวโน้มการเติบโตสูง เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ รวมถึงรถพลังงานไฟฟ้า (EV) และอากาศยาน อุตสาหกรรมดิจิทัล - สตาร์ทอัพ อุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรม BCG โดยเฉพาะการรีไซเคิลและพลังงานทางเลือก จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอากาศยานร่วมกันได้ในอนาคต
นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวว่า ความก้าวหน้าด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของจังหวัดไอจิ ที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ทั้งด้านเทคโนโลยีอากาศยาน พลังงานทดแทน และสตาร์ทอัพ ดังนั้นกระทรวงอุตสาหกรรม จึงต้องการเร่งต่อยอดและขยายความร่วมมือไปสู่การร่วมคิดและร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรม ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการของ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ทอัพไทยแบบครบวงจรเข้าร่วมศูนย์สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ STATION Ai ของจังหวัดไอจิ เพื่อสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีระหว่างกัน
นอกจากนี้ ทางจังหวัดไอจิ ยังได้กล่าวถึงการจัดงานนิทรรศการ AXIA EXPO 2025 (Aichi Transformation International Asia) และ Smart Manufacturing Summit 2025 ที่จังหวัดไอจิ ในเดือนมิถุนายนปี 2568 ภายใต้ธีมงานเมืองอัจฉริยะแห่งอนาคต (Smart Future Cities) นวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรม 5.0 (Innovation for Industry 5.0) และการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Transformation) พร้อมทั้งข้อเสนอพิเศษสำหรับผู้ประกอบการไทยในการออกบูธ และเข้าร่วมกิจกรรมย่อยในงานฯ ทั้งนี้ งานนิทรรศการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย ที่ได้มีการกำหนดไว้ภายในปี 2593 (Carbon Neutrality 2050) นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ยังได้มีการนำแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) มาเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศไทยเพื่อให้ภาคการผลิตมีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้น จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยได้เข้าร่วมเพื่อแสดงผลงานและศักยภาพ ตลอดจนเชื่อมโยงเครือข่ายกับผู้ประกอบการต่างชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลต่อไป
?ตั้งแต่ปี 2557 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ จังหวัดไอจิ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเพื่อร่วมกันสนับสนุนและยกระดับผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมไทย ? ญี่ปุ่นนั้น ทั้งสองหน่วยงานได้มีการประสานความร่วมมือและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันเป็นอย่างดี โดยปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 10 ปี สำหรับความร่วมมือระหว่างกัน ดิฉันจึงขอใช้โอกาสนี้ในการขอบคุณ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดไอจิ สำหรับความร่วมมือที่ดีมาโดยตลอด และขอให้ท่านยังคงที่จะสนับสนุนและสานต่อความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายให้เติบโตยิ่งขึ้น ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของกันและกัน?
ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลยังคงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ผ่านการพัฒนาทักษะแรงงาน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสร้างสตาร์ทอัพ ผ่านการบ่มเพาะและสนับสนุนแบบครบวงจรด้วยระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมั่นใจได้ว่า ศูนย์สนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ STATION Ai ของจังหวัดไอจิ จะเป็นส่วนสนับสนุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมสตาร์ทอัพ ของทั้ง 2 ประเทศ ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังหวังว่าสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น ระหว่าง กระทรวงอุตสาหกรรม และจังหวัดไอจิ ที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานเกือบ 1 ทศวรรษนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญในขับเคลื่อนกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลไทยตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพ ให้เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับอุตสาหกรรมหลักของจังหวัดไอจิ เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ที่จะเติบโตและก้าวหน้าต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืนร่วมกัน นางสาวพิมพ์ภัทรา กล่าวทิ้งท้าย