กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเวทีประชุมความยั่งยืนในธีม "Water Resilience in a Changing Climate"

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 23, 2024 15:31 —ThaiPR.net

กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเวทีประชุมความยั่งยืนในธีม

กระตุ้นภาคธุรกิจ 'ยืดหยุ่นและปรับตัวเร็ว' รับความท้าทายด้าน 'ทรัพยากรน้ำ' เพื่ออนาคต

กลุ่มธุรกิจ TCP เปิดเวทีงานประชุมด้านความยั่งยืนครั้งสำคัญ TCP Sustainability Forum 2024 ในธีม "Water Resilience in a Changing Climate" ระดมสมองนักวิชาการ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญ ยกระดับศักยภาพธุรกิจไทยเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายด้านน้ำจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชูแนวคิด 'ความยืดหยุ่นและการปรับตัวเร็ว' ประกาศเดินหน้า 3 แผนงาน ทั้งการจัดการน้ำแบบฟื้นฟู การใช้น้ำหมุนเวียนแบบ 100% และการใช้นวัตกรรมที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อทรัพยากรน้ำ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ปลุกพลังสู่เป้าหมายความยั่งยืนในอัตราที่เร็วขึ้นเพื่อโลกที่ดีกว่าตั้งแต่วันนี้ โดยมีนายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด

"น้ำ" วาระสำคัญที่ภาคธุรกิจต้อง "เร่งลงมือทำให้เร็วที่สุด"

"วิกฤตน้ำ" ที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังสร้างความเสียหายต่อผู้คนและการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก จากรายงาน Fast Forward ของสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย ปี 2566 ชี้ให้เห็นว่าภายในปี 2573 ปริมาณน้ำสะอาดที่โลกมีอยู่กับความต้องการใช้น้ำจะมีสัดส่วนต่างกันถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และสถานการณ์มีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงนับเป็นโจทย์สำคัญของภาคธุรกิจไทยในการเร่งลงมือทำ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านน้ำในปัจจุบันและอนาคต

กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมด้านความยั่งยืน TCP Sustainability Forum 2024 ภายใต้ธีม "Water Resilience in a Changing Climate" เปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ "น้ำกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของภาคธุรกิจ" เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำและความท้าทายด้านน้ำอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สนับสนุนให้องค์กรเร่งปรับปรุงการดำเนินการตลอดห่วงโซ่อุปทานโดยเสริมสร้างความสมบูรณ์และยืดหยุ่นของน้ำรวมถึงต้องร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้แหล่งน้ำที่มีความเปราะบาง

นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า "Water Resilience หรือความยืดหยุ่นด้านทรัพยากรน้ำ จะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำแบบเฉียบพลัน รุนแรงและไม่แน่นอน ที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ปัจจุบันไม่ใช่แค่ Climate Change แต่เป็น Climate Crisis เพราะน้ำมีผลกับชีวิตความเป็นอยู่ในทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคสุขภาพจากการอุปโภคบริโภค ภาคพลังงานที่เกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้า ภาคเกษตรที่เกี่ยวกับการผลิตอาหาร ภาคการผลิตที่เกี่ยวกับโรงงานที่ผลิตสินค้า ในฐานะที่เราเป็นองค์กรที่ใช้น้ำเป็นวัตถุดิบหลัก การจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญของบริษัท"

"หัวใจสำคัญเวลาพูดถึง Water Resilience คือการจะอยู่รอดอย่างไรในวันที่เราเจอวิกฤตน้ำ เป็นเรื่องการรับมือกับอนาคต เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากกับระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าหากทรัพยากรน้ำของธุรกิจ เศรษฐกิจ หรือประเทศ มีความยืดหยุ่น ก็จะสามารถต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ดี ซึ่งก็คือ Business Resilience ที่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับมือกับความท้าทายตั้งแต่วันนี้ วันที่เราต้องแข่งกับเวลา และต้องปรับตัวให้เร็วกว่าโลกที่กำลังหมุนไป" นายสราวุฒิ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP ดำเนินการด้านความยั่งยืนตามเป้าหมาย "ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า" โดยกลยุทธ์ปลุกพลังห่วงใยสิ่งแวดล้อม (Caring) มีความคืบหน้าอย่างมาก ได้แก่

  • Product Excellence การพัฒนาผลิตภัณฑ์แบรนด์ใหม่ที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค (Unmet Needs) และส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ทางเลือกสุขภาพ 80% ในปี 2569 โดยปัจจุบันทำได้ 72.25%
  • Circular Economy การดำเนินตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งเป้าหมายพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ให้สามารถรีไซเคิล 100% ได้ภายในปี 2567 ซึ่งปัจจุบันทำได้ 93% อีก 7% คือกลุ่มสแนค ซึ่งมั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะทำได้สำเร็จ และปีนี้นำร่องการใช้ขวด rPET กับแบรนด์แมนซั่ม พร้อมเดินหน้าเป็นองค์กร Zero Waste to Landfill ทั้งที่โรงงานปราจีนบุรีและสำนักงานใหญ่อย่างต่อเนื่อง
  • Low Carbon Economy การมุ่งสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ปัจจุบันสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% และขณะนี้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 80%
  • Water Sustainability การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าคืนน้ำกลับสู่ธรรมชาติและชุมชนให้มากกว่าน้ำที่ใช้ในกระบวนการผลิต (Net Water Positive) ภายในปี 2573 ซึ่งบรรลุเป้าหมายแล้วในขณะนี้ โดยสามารถคืนน้ำสู่ธรรมชาติสะสมได้ถึง 17 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ตลอดกระบวนการ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ทำให้ลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลงได้ 24% เมื่อเทียบกับปี 2562 และนำมาตรฐานสากลเรื่องการจัดการและดูแลทรัพยากรน้ำอย่าง Alliance Water Stewardship หรือ AWS มาใช้เป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มธุรกิจ TCP จะดูแลและบริหารจัดการน้ำทั้งภายในและภายนอกรอบโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
  • นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจ TCP เดินหน้าดำเนินแผนงานใน 3 ด้าน เพื่อสร้างเป้าหมาย Net Water Positive ให้โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ ด้านการจัดการน้ำแบบฟื้นฟู เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศทางน้ำให้กลับสู่สภาพเดิม หรือดีกว่าเดิม ด้านการใช้น้ำหมุนเวียนแบบ 100% เพื่อนำทรัพยากรน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด และด้านการใช้นวัตกรรมที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อทรัพยากรน้ำ พร้อมส่งเสริมเรื่องการสร้างคนด้วยการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนงานด้านความยั่งยืน ทั้งภายในองค์กร ชุมชน และระดับประเทศ

    TCP Sustainability Forum 2024 เป็นงานประชุมด้านความยั่งยืนที่กลุ่มธุรกิจ TCP จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สู่ปีแห่งการลงมือทำและปรับตัวเพื่อเร่งให้เกิดความก้าวหน้าเร็วที่สุด อีกทั้งยังเป็นเวทีความยั่งยืนเวทีแรกและเวทีเดียวในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือของพันธมิตรในกลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องดื่ม ในการรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ตอกย้ำความมุ่งมั่นของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่พร้อมขับเคลื่อนสู่การเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในด้านธุรกิจควบคู่กับการสร้างผลกระทบในทางบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งไทยและต่างประเทศ ตามเป้าหมาย "ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า"


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ