กลุ่มธุรกิจ TCP จัดงานประชุมความยั่งยืน TCP Sustainability Forum 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในธีม "Water Resilience in a Changing Climate" ซึ่งถือเป็นหัวข้อเร่งด่วนในวันนี้ที่ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญและเร่งลงมือทำอย่างเร็วที่สุด เพื่อการรับมือกับความท้าทายด้านน้ำที่เป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยยกระดับแผนงานด้านน้ำครอบคลุม 3 ด้าน ปลุกพลังสู่เป้าหมายความยั่งยืนในอัตราที่เร็วขึ้นเพื่อโลกที่ดีกว่าตั้งแต่วันนี้
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า "หัวใจสำคัญเวลาพูดถึง Water Resilience คือการจะอยู่รอดอย่างไรในวันที่เราเจอวิกฤตน้ำ ที่เกิดผลกระทบรุนแรงขึ้นจากสภาพอากาศแปรปรวน ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่ Climate Change แต่เป็น Climate Crisis และน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญมากกับระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าหากทรัพยากรน้ำของธุรกิจ เศรษฐกิจ หรือประเทศ มีความยืดหยุ่น ก็จะสามารถต้านทานความเปลี่ยนแปลงได้ดี ซึ่งก็คือ Business Resilience ที่ทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมรับมือกับความท้าทายตั้งแต่วันนี้ วันที่เราต้องแข่งกับเวลา และต้องปรับตัวให้เร็วกว่าโลกที่มันหมุนไป"
กลุ่มธุรกิจ TCP เดินหน้า 3 แผนงาน ตอกย้ำเป้าหมาย Net Water Positive ให้โดดเด่นขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ การจัดการน้ำแบบฟื้นฟู เพื่อปรับปรุงระบบนิเวศทางน้ำให้กลับสู่สภาพเดิม หรือดีกว่าเดิม การใช้น้ำหมุนเวียนแบบ 100% เพื่อนำทรัพยากรน้ำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างสมบูรณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด และการใช้นวัตกรรมที่ยั่งยืนและสร้างสรรค์มุ่งเน้นให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อทรัพยากรน้ำ พร้อมส่งเสริมเรื่องการสร้างคนด้วยการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนแผนงานด้านความยั่งยืน ทั้งภายในองค์กร ชุมชน และระดับประเทศ
TCP Sustainability Forum 2024 นับเป็นเวทีความยั่งยืนเวทีแรกและเวทีเดียวในประเทศไทยที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือของพันธมิตรในกลุ่มอุตสาหกรรมและเครื่องดื่ม สำหรับปีนี้ได้รับเกียรติจากนักวิชาการ นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมแชร์วิสัยทัศน์และกลยุทธ์ พร้อมรับฟังความคิดเห็นที่มีประโยชน์เกี่ยวกับ "น้ำกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับตัวของภาคธุรกิจ" เพื่อร่วมกันหาโซลูชันให้กับธุรกิจไทยและลดความเสี่ยงทางธุรกิจที่เกิดจากการขาดแคลนน้ำและความท้าทายด้านน้ำอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สำหรับงานประชุมในปีนี้ได้รับเกียรติจาก นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิด โดยงานแบ่งออกเป็นสามช่วง ช่วงแรก "Thailand Forward Faster: Accelerating Sustainability" ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "ทิศทางเศรษฐกิจและโจทย์ใหม่ประเทศไทย"
ช่วงที่ 2 Water Resilience: ความท้าทายด้านน้ำและการปรับตัวของภาคธุรกิจ ประกอบด้วยการพูดคุยในหัวข้อ "Business Resilience: การปรับตัวรับมืออนาคต" โดย นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP และหัวข้อ "Water Resilience มาตรฐานและแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ" โดย นายประสิทธิ์ ไวยาวัจมัย กรรมการบริษัท อีอาร์เอ็ม-สยาม จำกัด ปิดท้ายด้วยหัวข้อ "สถานการณ์น้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย" โดย ดร.เพชร มโนปวิตร ที่ปรึกษาองค์การสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย
ช่วงที่ 3 เป็นการอภิปรายในหัวข้อ "อนาคตและทางออกของการปรับตัวรับมือการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำและสภาพภูมิอากาศ" โดย ดร.รอยบุญ รัศมีเทศ ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายอุกฤษ อุณหเลขกะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง รีคัลท์ ประเทศไทย อ.ดร.นาอีม แลนิ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายธานิษฎ์ กองแก้ว ผู้อำนวยการด้านความยั่งยืน มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์
กลุ่มธุรกิจ TCP พร้อมเดินหน้า "ปลุกพลัง เพื่อวันที่ดีกว่า" และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการรับมือกับความท้าทายจากเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)