กลุ่มทิสโก้ นำโดย นายปลิว มังกรกนก ประธานคณะกรรมการ และ นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พร้อมด้วยคณะกรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า และพันธมิตร ได้แก่ บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกันส่งมอบโครงการ "ทิสโก้ร่วมใจ 11" อาคารเรียนแบบมาตรฐาน 105 ล/58 (ข) ต้านแผ่นดินไหว จำนวน 1 หลัง ขนาด 2 ชั้น จำนวน 5 ห้องเรียน 1 ห้องพักครู 1 ห้องประชุม พร้อมครุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและค่าขนส่ง รวมถึงสนับสนุนการก่อสร้างอาคารละหมาดร่วมใจ มูลค่าโครงการทั้งสิ้น 12,134,100 บาท ให้แก่ โรงเรียนบ้านคลองกำ เกาะกลาง จ.กระบี่ เพื่อใช้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ และพัฒนาศักยภาพด้านการศึกษาให้เด็กไทย โดยมี นายสมชาติ ไกรแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากระบี่ เขต1 และนางสาวมนัดดา จิตนุกูล ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนบ้านคลองกำ และชาวชุมชนเกาะกลาง ร่วมกันรับมอบ
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า การศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นมาก และเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงโอกาสต่าง ๆ ที่หลากหลาย กลุ่มทิสโก้ เห็นความสำคัญจึงริเริ่มโครงการทิสโก้ร่วมใจขึ้นเมื่อปี 2552 เพื่อมอบโอกาสด้านการศึกษา โดยจัดสรรทุนพัฒนาอาคารเรียนและครุภัณฑ์มอบให้แก่โรงเรียนขยายโอกาสที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นเร่งด่วนทั่วประเทศ ซึ่งภาครัฐจัดสรรงบประมาณสนับสนุนไม่เพียงพอ เพื่อให้เยาวชนไทยได้มีอาคารเรียนที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน และสร้างแรงจูงใจให้คนในชุมชนส่งบุตรหลานเข้าเรียนตามวัย โดยเกณฑ์การคัดเลือกนั้น ทิสโก้ จะเน้นในเรื่องของ "โอกาส" และ "ความจำเป็น" เป็นหลัก เช่น อาคารเดิมผุพัง เสื่อมสภาพ ไฟไหม้ น้ำท่วม หรือได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เป็นต้น โดยนำข้อมูลหลักจากกระทรวงศึกษาธิการและวิสัยทัศน์ของผู้บริหารโรงเรียนมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้โรงเรียนและนักเรียนได้รับประโยชน์สูงสุด
ปัจจุบัน โครงการทิสโก้ร่วมใจ ได้มีการส่งมอบไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 13 แห่ง โดยเป็นอาคารเรียน 12 แห่ง อาคารโรงอาหาร 1 แห่ง และปรับปรุงศูนย์อุบัติเหตุ - ฉุกเฉิน 1 แห่ง รวมมูลค่าทั้งสิ้น 95,376,158.42 บาท และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารหลังที่ 14 รวมถึงยังคงเดินหน้าสำรวจความขาดแคลนของโรงเรียนทั่วประเทศต่อเนื่อง โดยที่กลุ่มทิสโก้เป็นผู้สนับสนุนหลัก ดำเนินโครงการร่วมกับลูกค้า ผู้บริหาร พนักงาน พันธมิตร และประชาชนทั่วไปช่วยกันบริจาคสมทบ
ขณะที่ โรงเรียนบ้านคลองกำ นับเป็นอาคารเรียนทิสโก้ร่วมใจหลังที่ 11 ตั้งอยู่บนเกาะกลางปากแม่น้ำกระบี่ ต.คลองประสงค์ อ.เมือง จ.กระบี่ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลาง เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาล ถึง ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนโดยทั่วไปมีผลการเรียนและศักยภาพที่ดี แต่ติดปัญหาคือหลังจบการศึกษาภาคบังคับเรียบร้อยแล้ว หลายคนกลับเลือกไม่เรียนต่อ และประกอบอาชีพประมงตามวิถีชุมชนและผู้ปกครอง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้บริหารสถานศึกษาและคณะทำงานว่า จะทำอย่างไรจึงจะสร้างแรงบันดาลใจและส่งเสริมให้เด็ก ๆ มีโลกทัศน์ที่กว้างไกลขึ้น ได้รู้จักอาชีพที่หลากหลาย และตัดสินใจเรียนต่อในสายอาชีพที่ใฝ่ฝัน และพร้อมรับมือกับสภาพสังคมโลกที่เปลี่ยนไปได้
นายไพรัช ศรีวิไลฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสกลุ่มทิสโก้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความพิเศษของโครงการนี้คือการริเริ่มนำศิลปะบนกำแพง (Graffiti) มาเป็นสะพานเชื่อมเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ เปิดประตูสู่โลกกว้างเพื่อตามหาอนาคตของตน โดยศิลปินใช้ผนังอาคารทิสโก้ร่วมใจ 11 รังสรรค์ผลงานใน 3 ธีม ได้แก่ 1. ธีมอาชีพในฝัน โดยวาด 7 อาชีพเด่นในฝันของเด็กรุ่นใหม่ ประกอบด้วย เกมเมอร์ (Gamer) นักฟุตบอล (Football Player) ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor) ยูทูปเบอร์ (Youtuber) และบาริสต้า (Barista) เพื่อให้เด็กได้รู้จักอาชีพใหม่ ๆ ที่มีอยู่มากมายบนโลกยุคนี้ นอกเหนือจากวิชาชีพที่อยู่บนเกาะ
2.ธีม Reach for the Star รูปเด็กใส่ชุดอวกาศ สื่อความหมายถึงจินตนาการที่กว้างใหญ่ไพศาลราวจักรวาล และเมื่อมีความฝัน มีแต่ความพยายามจากการศึกษาเรียนรู้เท่านั้น ที่จะทำให้ฝันเป็นจริงได้ และ 3. ธีม Save Our Sea แฝงเรื่องราวของครูที่นำพาเด็ก ๆ ออกผจญภัยสู่โลกกว้าง ด้วยเรือทิสโก้ร่วมใจ 11 ท่ามกลางท้องทะเลที่เชื่อมต่อกับวิถีชีวิตพื้นถิ่น และการอนุรักษ์ผืนทะเลของชุมชนบนเกาะกลางไปพร้อมกัน
"จิตอาสาทิสโก้ทำงานร่วมกับโรงเรียนและคนในชุมชนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โครงการนี้เกิดประโยชน์กับเด็ก ๆ โรงเรียน และชุมชนได้มากที่สุด ดังนั้น นอกจากการใช้ศิลปะมาสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ แล้ว เรายังอยากให้อาคารหลังนี้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน หรือเป็นจุดเช็คอินบนเกาะเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง เพราะจากการลงพื้นที่พบว่าชุมชนแห่งนี้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง หากเด็ก ๆ ได้เติบโตอย่างเข้มแข็ง จะกลายเป็นกำลังสำคัญในพัฒนาชุมชนให้ยั่งยืนได้ในอนาคต"
ด้านนางสาวมนัดดา ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองกำ เล่าว่า โรงเรียนบ้านคลองกำ เป็นศูนย์กลางของชุมชนและมัสยิดมากว่า 48 ปี ตัวอาคารจึงทรุดโทรมตามกาลเวลาและการใช้งานที่ยาวนาน ปัจจุบันโรงเรียนมีครู 16 คน นักเรียน 280 คน ซึ่งทั้งหมดนับถือศาสนาอิสลาม โดยหลักสูตรการเรียนการสอนจะเน้นอ่านออกเขียนได้ วิชาการ ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ และยังส่งเสริมกิจกรรมในด้านต่าง ๆ ส่วนผู้ปกครองโดยส่วนมากยึดอาชีพประมง และรับจ้างทั่วไป โรงเรียนจึงมีแนวคิดและพยายามเปิดโลกทัศน์ใหม่ที่กว้างไกลขึ้นให้กับเด็ก ๆ ด้วยการสนับสนุนให้นักเรียนได้ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น เพราะเชื่อว่า โอกาสทางการศึกษาจะนำพานักเรียนได้มีอนาคตที่สดใส
"หลังจบการศึกษาภาคบังคับ นักเรียนหลายคนเลือกประกอบอาชีพประมงตามวิถีชุมชนแบบดั้งเดิม ซึ่งอาชีพนี้เป็นทักษะชีวิตที่นักเรียนได้รับมาโดยสายเลือด ความคุ้นชินกับการเป็นชาวประมง การช่วยพ่อแม่ทำประมง และการมีวิถีชีวิตอย่างพอเพียงเป็นสิ่งที่ดี แต่สถานศึกษาก็ยังจำเป็นต้องเพิ่มโอกาสในการเห็นโลกกว้างให้กับเด็ก ๆ เพราะด้วยเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า สภาพสังคมโลกที่เปลี่ยนไป ล้วนส่งผลต่อการปรับตัวของเยาวชนในพื้นที่เกาะอย่างยิ่ง เราจึงพยายามสร้างโลกทัศน์ที่กว้างไกลให้พวกเขาให้ได้มากที่สุด เช่น การออกไปศึกษาเพิ่มเติมตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ การไปทัศนศึกษา รวมถึงการสร้างแหล่งเรียนรู้ภายในสถานศึกษาให้เขาได้เห็นว่ายังมีอาชีพต่าง ๆ ที่ท้าทายและน่าสนใจอีกมากมาย"
น้องปุ๊ ทักษิณา ดำกุล ตัวแทนนักเรียนจากระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านคลองกำ เล่าว่า "รู้สึกว่าโชคดีและดีใจมากที่มีโอกาสได้เรียนในอาคารเรียนหลังใหม่ โต๊ะ - เก้าอี้ใหม่ บรรยากาศใหม่ สื่อการเรียนที่ครบและทันสมัย หลังเรียนจบหนูตั้งใจจะออกไปเรียนต่อที่นอกเกาะสานฝันการเป็นคุณครู และถ้ามีโอกาสจะกลับมาพัฒนาชุมชนเกาะกลางให้เจริญขึ้น เด็ก ๆ ที่นี่หลายคนขาดโอกาสหรือที่บ้านยากจน การที่มีผู้ใหญ่ใจดีมาสร้างอาคารเรียนใหม่ ให้อุปกรณ์การเรียนใหม่ มีการแนะแนวอาชีพ มีกิจกรรมวาดภาพด้วยกัน สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเราได้มากและทำให้เราได้คิดถึงอนาคตที่ไกลขึ้น ขอบคุณมากค่ะ"
นางสาวศิลานณี เล็กดำ ตัวแทนผู้ปกครองของนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองกำ กล่าวว่า "การที่มีผู้ใหญ่มาช่วยกันผลักดัน แนะนำ และสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่นี่จะยึดติดกับสิ่งเดิม ประสบการณ์เดิม หมายถึงว่า เขาจะเจริญรอยตามอาชีพดั้งเดิมของพ่อแม่ ไม่ค่อยอยากเรียนสูง ๆ เพราะคิดว่าถึงไม่เรียนสูงก็มีงานทำ ไม่ต้องเดินทางออกนอกเกาะ ที่ผ่านมาก็มีรุ่นพี่กลับมาแนะแนวให้รุ่นน้องบ้าง แต่ก็ยังมีน้อย การที่มีผู้ใหญ่จากนอกเกาะมาให้โอกาส มาทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก ๆ ถือเป็นการเปิดโลกให้เขาได้สนุก ได้เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ในฐานะศิษย์รู้สึกปลื้มใจมาก ถ้าเขามีแรงผลักในการเรียนต่อแล้วกลับมาพัฒนาชุมชน มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องต่อ ๆ ไปด้วย เชื่อว่า จะทำให้ชุมชนเกาะกลางของเราแข็งแรงขึ้น"