MICRO ย้ำ!! พร้อมไถ่ถอนหุ้นกู้เดือนต.ค.นี้ เผยกระแสเงินสดแข็งแกร่ง เล็งออกหุ้นกู้ชุดใหม่ 200 ลบ. เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและปล่อยสินเชื่อ ชี้ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรก พอร์ตสินเชื่อรวม 4,102 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 2, 2024 08:39 —ThaiPR.net

MICRO ย้ำ!! พร้อมไถ่ถอนหุ้นกู้เดือนต.ค.นี้ เผยกระแสเงินสดแข็งแกร่ง เล็งออกหุ้นกู้ชุดใหม่ 200 ลบ. เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและปล่อยสินเชื่อ ชี้ภาพรวมธุรกิจครึ่งปีแรก พอร์ตสินเชื่อรวม 4,102 ลบ.

"บมจ.ไมโครลิสซิ่ง หรือ MICRO" เผยบริษัทเตรียมความพร้อมไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนต.ค. 2567 จำนวน 762.1 ลบ. ปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดแข็งแกร่งราว 600 ลบ. และมีแผนออกหุ้นกู้ชุดใหม่ 200 ลบ. เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและใช้ในการปล่อยสินเชื่อ ชูกลยุทธ์บริหารธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ยังคงเน้นดูแลสภาพคล่องเป็นหลักคุมคุณภาพหนี้ รักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ โดย NPL ณ สิ้นไตรมาส 2/67 อยู่ที่ 4.73% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,102 ลบ.

นายวิศาลท์ บูรณสันติกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ MICRO เปิดเผยว่า แผนธุรกิจของ MICRO ในครึ่งปีหลังของปี 2567 หลักๆ ยังคงเน้นการดูแลสภาพคล่องและรักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ และดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เนื่องด้วยบริษัทไม่ได้เร่งปล่อยสินเชื่อมากนัก โดยประเมินภาพรวมในช่วงไตรมาสที่ 3 ยอดปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกมือสองจะลดลงจากการเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วง low season ของรถบรรทุก ขณะที่ยอดปฏิเสธสินเชื่อปัจจุบันสูงสุดอยู่ที่ 70% ซึ่งภาพรวมสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองทั้งอุตสาหกรรมชะลอตัวเหมือนกันทุกราย

โดยปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดแข็งแกร่งมากกว่า 600 ล้านบาท เนื่องจากปีที่ผ่านมาไม่ได้เน้นปล่อยสินเชื่อใหม่มากนัก และทยอยสะสมกระแสเงินสดจากการชำระหนี้ของลูกค้า รวมถึงการเร่งจำหน่ายรถยึดที่เข้าประมาณเดือนละ 60-80 ล้านบาท หลังหักยอดปล่อยสินเชื่อและค่าใช้จ่ายประจำ เพื่อให้บริษัทมีความพร้อมในการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปีนี้ทั้ง 2 รุ่น คือ เดือนเมษายน 67 ที่ผ่านมา จำนวน 321.1 ล้านบาท ซึ่งได้ไถ่ถอนไปก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ยังเตรียมแผนที่จะชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนตุลาคมอีก 762.1 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หลังคืนหุ้นกู้ชุดเก่าในเดือนต.ค.แล้ว บริษัทมีแผนที่จะออกหุ้นกู้ชุดใหม่ราว 200 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ถือหุ้นกู้เดิมสามารถลงทุนกับหุ้นกู้ชุดใหม่ของบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้บริษัทมีเงินทุนหมุนเวียนและเงินทุนสำหรับการปล่อยสินเชื่อหลังจากคืนหุ้นกู้ไปแล้ว

"ภาพรวมธุรกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การปล่อยสินเชื่อลดลง เนื่องจากบริษัทยังคงความเข้มงวดของการอนุมัติสินเชื่อจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงมีความผันผวนสูง และจากผลกระทบด้านราคาหลักประกันที่ด้อยลงในช่วงปีที่ผ่านมา สังเกตได้จากการขอสินเชื่อที่ยังมีจำนวนสูงอยู่ แต่บริษัทมีอัตราการปฏิเสธในช่วงที่ผ่านมาสูงสุดอยู่ที่ 70% ซึ่งสะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังและเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ถือหุ้น โดยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในปี 67 บริษัทจะเน้นการดูแลสภาพคล่อง รักษาพอร์ตลูกหนี้ที่ดีไว้ รวมถึงควบคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 4.73% ขณะที่พอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,102 ล้านบาท" นายวิศาลท์ กล่าว

โดยในกลุ่มธุรกิจประกอบด้วย บริษัท ไมโครพลัสลิสซิ่ง จำกัด (MPLUS) ที่เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ เน้นดีลเลอร์ที่คัดคุณภาพลูกหนี้ที่ดี ซึ่งบริษัทสามารถควบคุม Credit Cost ได้ดีเมื่อเทียบกับภาพรวมของตลาดสินเชื่อรถจักรยานยนต์ โดยจะเริ่มขยายสินเชื่อเพิ่มขึ้นหลังมีการชะลอตัวในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ยังมีการคุมความเสี่ยงอย่างใกล้ชิด และบริษัทมีแนวทางที่จะให้สินเชื่อกับกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งเป็นการตอบโจทย์นโยบาย ESG ของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มพลังงานสะอาด

บริษัท ไมโครอินชัวร์ โบรกเกอร์ จำกัด (MIB) ดำเนินธุรกิจนายหน้าประกันวินาศภัยและนายหน้าประกันชีวิต วางแผนต่อยอดขยายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยดูแลบริหารความเสี่ยงให้กับกลุ่มลูกค้าสินเชื่อทั้งรถบรรทุกมือสอง และรถจักรยานยนต์

ส่วนบริษัท ไมโคร ฟิน จำกัด (MFIN) ให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน และสินเชื่อที่ไม่มีทะเบียนรถเป็นประกัน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ต้องการเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ซึ่งได้เริ่มปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติมให้กับลูกค้าเก่าของบริษัท (Top-up) ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/66 และเริ่มปล่อยสินเชื่อจำนำเล่มทะเบียน (Title Loan) ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/66 ที่ผ่านมา โดยปี 67 เน้นขยายจากฐานลูกค้าเดิมของ MICRO เพื่อเป็นการสนับสนุนและรักษาฐานลูกค้าที่ดีของบริษัทไว้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ