ชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม มรภ.สงขลา ส่งผลงาน "ถังขยะไม่มีวันเต็ม" จัดการของเสียอินทรีย์ตามหลักการสำนักงานสีเขียว คว้ารางวัลผลการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ระดับเงิน จากกรมลดโลกร้อน สร้างพลังขับเคลื่อนรับมือโลกเดือดของเครือข่ายเด็กและเยาวชนไทยสู่ประชาคมโลก
ผศ.กมลนาวิน อินทนูจิตร อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า โครงการ "ถังขยะไม่มีวันเต็ม" ของชมรมรักษ์สิ่งแวดล้อม มรภ.สงขลา ได้รับรางวัลผลการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ประจำปี 2566 ระดับเงิน จากกรมลดโลกร้อน ในงาน "CCE Children & Youth Forum ปี 67" สร้างพลังขับเคลื่อนรับมือโลกเดือดของเครือข่ายเด็กและเยาวชนไทยสู่ประชาคมโลก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28-29 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยตนเป็นตัวแทนของ มรภ.สงขลา เข้ารับรางวัลจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ประธานในพิธี
งานในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมฯ กว่า 350 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารมหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาชมรมอนุรักษ์ฯ ของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ประธานเครือข่ายเด็กและเยาวชนจากองค์กรต่าง ๆ รวมถึงเครือข่ายเด็กและเยาวชนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2567 ได้แก่ เครือข่ายเยาวชนด้านสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) เครือข่ายเด็กและเยาวชนจากมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย เครือข่ายสภาเด็กและเยาวชน เครือข่ายเด็กและเยาวชนจากองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม (NGOs) เครือข่ายเด็กและเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ และเครือข่ายเด็กและเยาวชนจากองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต่าง ๆ
ผศ.กมลนาวิน อินทนูจิตร กล่าวว่า โครงการ "ถังขยะไม่มีวันเต็ม" ได้รับงบประมาณจากกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อดำเนินกิจกรรมนำร่องด้านสิ่งแวดล้อมในมหาวิทยาลัย ซึ่งโครงการดังกล่าวมีความโดดเด่นในการจัดการของเสียอินทรีย์ในแต่ละอาคารตามหลักการสำนักงานสีเขียว โดยดำเนินการถ่ายทอดและแนะนำวิธีทำถังขยะไม่มีวันเต็มแก่สมาชิกในชมรม รวมถึงดำเนินการร่วมกับกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยตลอดทั้งปี
นอกจากนั้น นักศึกษาแกนนำยังได้รับเกียรติบัตรเชิดชูเกียรติระดับชาติจากกิจกรรมดังกล่าว สามารถเสริมบทบาทของเด็กและเยาวชนในกาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และร่วมกำหนดทิศทางในการขับเคลื่อน ตลอดจนแสดงผลงานความสำเร็จและการพัฒนาเครือข่ายให้สอดรับกับแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามสถานการณ์แผนและนโยบายระดับประเทศและระดับนานาชาติ
ภายใต้แนวคิดที่ว่า ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.skru.ac.th/view_photo/photo1.php?album=2024090101