เปลี่ยน"เปลือกไข่" ให้มีคุณค่า ไม่ทิ้งเป็นขยะ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 4, 2024 17:23 —ThaiPR.net

เปลี่ยน

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)ที่กำลังส่งผลทั่วโลก ซึ่งทุกคนต้องตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อดูแลให้ทุกชีวิตข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน หลัก Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ ถูกนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรในห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) หรือนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกิดประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย วัตถุดิบ และพลังงาน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญไปสู่เป้าหมายลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero) ในอุตสาหกรรมอาหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำระดับโลก ประกาศเป้าหมาย Net-Zero ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) บนเส้นทางความมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร และดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สอดรับตามเป้าหมาย SDGs แผนปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่ Net-Zero ของซีพีเอฟ กำหนดกลยุทธ์ที่เป็นแนวนโยบายหลัก อาทิ ลดปริมาณของเสียสู่การฝังกลบและเผา (Zero Waste to Landfill)ให้เป็นศูนย์ ด้วยแนวคิดสร้างมูลค่าจากขยะ (Waste to Value)นำขยะมาใช้ซ้ำหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งในกระบวนการผลิตของซีพีเอฟ มีเศษเปลือกไข่ที่เหลือ และถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการมีส่วนช่วยชุมชนและสิ่งแวดล้อม

โรงฟักไข่ชัยภูมิ (ธุรกิจไก่ปู่ - ย่าพันธุ์เนื้อ) จังหวัดชัยภูมิ นำเปลือกไข่ มาใช้ทำโครงการปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนและเกษตรกรบ้านซับรวงไทร เปลี่ยนเศษเปลือกไข่เป็นปุ๋ยด้วยวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ช่วยลดขยะสู่บ่อฝังกลบ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในการซื้อปุ๋ย จากการที่เกษตรกรสามารถผลิตปุ๋ยใช้เอง เป็นประโยชน์กับเกษตรกรรอบสถานประกอบการ ประกอบกับปุ๋ยเปลือกไข่มีคุณสมบัติช่วยปรับสภาพของดิน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตให้กับเกษตรกรกร จากเปลือกไข่ที่เหลือในกระบวนการผลิต ถูกนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากทำปุ๋ยที่มีส่วนผสมของเปลือกไข่แล้ว ซีพีเอฟต่อยอดสนับสนุนงานวิจัยสร้างคุณค่าเพิ่มจากเปลือกไข่ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนเปลือกไข่ให้กับโครงการผลิตไบโอซีเมนต์ ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มวิจัยวัสดุชีวภาพอัจฉริยะและเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้รับทุนวิจัยร่วมกับสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และสำนักวิจัยและพัฒนา กรมชลประทาน นำเปลือกไข่ใช้เป็นส่วนผสมเพื่อผลิตต้นแบบแผ่น Bio-Cement สำหรับการลดการซึมของน้ำบาดาลเค็มในพื้นที่นาข้าว เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการใช้ประโยชน์วัสดุเหลือจากอุตสาหกรรม และขยายผลการใช้ไบโอซีเมนต์เพื่อหน่วงน้ำในแปลงนาในพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหาดินเค็ม และน้ำกร่อย รวมทั้งจะนำไปใช้ในการพัฒนาและขยายผลไปสู่การสร้างคลองส่งน้ำในพื้นที่การเกษตร

ผลศึกษาในเบื้องต้น พบว่าไบโอซีเมนต์ 1 กรัม สามารถกักเก็บก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ได้ 41 กรัม และในอนาคต มีความเป็นไปได้ว่าไบโอซีเมนต์ที่ได้ จะถูกนำมาพัฒนาสูตรให้สามารถใช้กับเครื่องพิมพ์สามมิติ ที่จะนำไปผลิตปะการังเทียม หรือพัฒนาเป็นไบโอคอนกรีต ที่อาจถูกนำไปใช้ในงานก่อสร้างเพื่อเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำใต้ดินต่อไป โรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จังหวัดนครนายก นำเปลือกไข่บดที่เหลือจากกระบวนการผลิต แบ่งปันให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ปรับดินก่อนการเพาะปลูก จากการที่คุณสมบัติของเปลือกไข่ที่ช่วยให้ดินร่วนซุย โดยในละปีมีเปลือกไข่บดเฉลี่ยที่ให้กับเกษตรกร 1,800 ตันต่อปี และในปีนี้ ยังได้ร่วมมือกับ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCG Decor (SCGD) สนับสนุนเปลือกไข่ในการวิจัย และพัฒนาสินค้าสุขภัณฑ์ ภายใต้แบรนด์ COTTO โดยเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยการนำเปลือกไข่จากโรงงานแปรรูปไข่บ้านนา จ.นครนายก และโรงฟักแก่งคอย จ.สระบุรี มาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรม ในด้านของธุรกิจไก่ไข่ คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของซีพีเอฟทั้ง 7 แห่ง ( เชียงใหม่ พิษณุโลก นครราชสีมา ร้อยเอ็ด อุดรธานี จันทบุรี และสงขลา ) ใช้หลัก Circular Economy บริหารจัดการของเสียในกระบวนการผลิตกลับมาใช้ประโยชน์ อาทิ ฟาร์มคอมเพล็กซ์สันกำแพง จ.เชียงใหม่ ฟาร์มคอมเพล็กซ์จักราช จ.นครราชสีมา ฯลฯ ทำโครงการนำเปลือกไข่มาแปรรูปเป็นสารปรับปรุงดิน โดยนำเปลือกไข่กระจายให้เกษตรกรไปใช้เพื่อการเพาะปลูก ตัดวงจรการนำเปลือกไข่ไปทิ้งสู่หลุมฝังกลบ (Waste to Landfill) สร้างผลกระทบเชิงบวกสู่ชุมชนและสังคมโดยรอบ

นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต อาทิ โครงการระบบลำเลียงไข่อัจฉริยะ นำระบบอัตโนมัติเข้ามาควบคุมการลำเลียงไข่ เพื่อลดความเสียหายจากการลำเลียงไข่จากฟาร์มไปสู่โรงคัดไข่ และความเสียหายที่เกิดจากกระบวนการคัดไข่ ช่วยลดการสูญเสียในกระบวนการผลิตอาหาร ( Food Loss)ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

 

 


แท็ก ภูมิอากาศ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ