5 สารอาหารช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท

ข่าวทั่วไป Thursday September 5, 2024 09:12 —ThaiPR.net

5 สารอาหารช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท

สมองล้า เพลีย ไม่ปลอดโปร่ง ความจำแย่ลง ระบบประสาทเสื่อม เช่น ชาปลายมือ ปลายเท้า เหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ อายุที่มากขึ้น  การนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ  ความเครียด ขาดวิตามินหรือสารอาหาร รวมถึงการใช้ยาบางอย่าง

สำหรับอาการเหล่านี้ พญ.กฤดากร เกษรคำ แพทย์ American Board of Anti-Aging Medicine จาก Addlife Anti-Aging Center ชั้น 2 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) แนะนำวิธีการแก้ไขเบื้องต้น คือ การปรับพฤติกรรมบางอย่าง เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมคลายเครียด เพื่อให้สมองได้ฟื้นฟูการทำงานได้ดีขึ้นค่ะ และยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ชะลอความเสื่อมได้ดีนั้นก็คือ วิตามินและสารอาหารนั่นเองค่ะ ที่สำคัญได้แก่

  • DHA (ดีเอชเอ) เป็นกรดไขมันจำเป็นในตระกูลโอเมก้า 3 ช่วยการทำงานของระบบประสาท และช่วยการสั่งงานของสมอง มีผลต่อความจำและการเรียนรู้ พบมากในปลาทะเล เช่น แซลมอน, ปลาทูน่า, ปลาทู, สาหร่ายทะเลบางชนิด เป็นต้น ซึ่งร่างกายของมนุษย์ไม่สามารถสร้าง DHA เองได้ จึงต้องได้รับจากการรับประทาน
  • B Complex (วิตามินบีรวม) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบประสาทและสมอง ช่วยลดอาการอ่อนเพลีย อาการชาตามปลายประสาท ปลายมือ ปลายเท้า พบในผักใบเขียว ไข่ นม ถั่ว
  • Choline (โคลีน) เป็นสารอาหารสำคัญที่จัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบี เมื่อรับประทานเข้าไปร่างกายจะเปลี่ยนเป็น Acetyl Choline ที่ทำหน้าที่เป็นสารสื่อประสาท ช่วยถ่ายทอดข้อมูลระหว่างสมองและอวัยวะต่างๆให้ทำหน้าที่ตามสั่ง โดยโคลีนจะพบมากในไข่แดง, เนื้อสัตว์, ปลา, เครื่องในสัตว์, ถั่วเหลือง, ถั่วลิสง, จมูกข้าว, ข้าวโอ๊ต, กะหล่ำปลี และกะหล่ำดอก
  • Gingko (กิงโกะ) สารสกัดจากใบแปะก๊วย ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์สมอง ชะลอการเกิดอัลไซเมอร์ ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดี ช่วยให้สมาธิและความจำดีขึ้น
  • Phosphatidyl Serine (ฟอสฟาทิดิลเซอรีน) เป็นองค์ประกอบหลักของเยื่อหุ้มเซลล์ประสาทในสมอง ช่วยป้องกันและชะลอความเสื่อมของเซลล์ประสาทในสมอง ช่วยรักษาภาวะพร่องความจำ ลดภาวะสมองล้า ความจำเสื่อม โรคสมาธิสั้น
  • นอกจาการดูแลสมองด้วยตัวเองแล้ว สิ่งที่สำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการตรวจเช็คสุขภาพสมองเป็นประจำ เพื่อตรวจดูความเสี่ยงที่จะเกิดโรคทางสมอง เช่น ความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้วางแผนการรักษาและป้องกันได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

     


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ