finbiz by ttb แนะวิธีลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจ มุ่งสู่การทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หนุนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 6, 2024 10:46 —ThaiPR.net

finbiz by ttb แนะวิธีลดการปล่อยคาร์บอนในธุรกิจ มุ่งสู่การทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ หนุนธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันแต่ละองค์กรกำลังให้ความสำคัญและตื่นตัวกับแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ตามกรอบ ESG โดยสิ่งหนึ่งที่สำคัญในมิติของสิ่งแวดล้อม คือการจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ เป็นอันดับแรก ด้วยการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก เพื่อคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร finbiz by ttb ขอนำเสนอแนวทางที่อาจทำให้ SME สามารถเริ่มต้นและจัดลำดับการจัดการได้ไม่ยาก โดยแบ่งเป็น 3 Scope ดังนี้

เริ่มจาก Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง จากกิจกรรมของธุรกิจเอง และมักมีผลกระทบต่อธุรกิจมากที่สุด โดยสามารถแยกการวัดใน Scope นี้ออกเป็น

  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่อยู่กับที่ เช่น การผลิตไฟฟ้า ความร้อนและไอน้ำที่ใช้เองภายในองค์กร การเผาไหม้ของอุปกรณ์หรือเครื่องจักรที่องค์กรเป็นเจ้าของ เช่น การเผาไหม้ของ Generator การเผาไหม้ LPG เพื่อปรุงอาหาร การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงประเภทต่าง ๆ โดยเก็บข้อมูลปริมาณเชื้อเพลิงที่ใช้ในแต่ละเครื่องจักรและอุปกรณ์ ใช้หน่วยเป็นลิตรหรือกิโลกรัม
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่มีการเคลื่อนที่ เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากยานพาหนะที่องค์กรเป็นเจ้าของ เช่น รถยนต์ รถบรรทุก รถโฟล์คลิฟท์ รถตัดหญ้า หรือยานพาหนะที่องค์กรมีอำนาจในการควบคุมปริมาณการใช้เชื้อเพลิง เช่น รถเช่า เรือ เครื่องบิน รถไฟ เฮลิคอปเตอร์ นำมารวมทั้งหมด การเก็บข้อมูลส่วนนี้ค่อนข้างง่าย เพราะปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่มักจะมีระบบจัดเก็บอยู่แล้วว่าแต่ละเดือนใช้เชื้อเพลิงไปกี่ลิตร
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากกระบวนการผลิต ไม่ได้เกิดจากการเผาไหม้โดยตรงจากเชื้อเพลิง แต่เกิดจากการทำปฏิกิริยาเคมีในกระบวนการผลิต เช่น กระบวนการ Calcinations ของการผลิตปูนซีเมนต์
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการรั่วไหล และอื่นๆ เช่น การบำบัดน้ำเสีย หรือการรั่วไหลของสารทำความเย็น โดยสามารถดูได้จากการซ่อมบำรุง
  • การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากของชีวมวล (ดินและป่าไม้) เช่น การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินจากพื้นที่ป่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หรือการใช้เชื้อเพลิงชีวมวล เช่น เอทานอล หรือไบโอดีเซล

โดย Scope 1 ธุรกิจสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เอง เช่น การเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรที่ลดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การเปลี่ยนระบบ Heat recovery system, Cooling system การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปสู่ระบบ Automation การเปลี่ยนหลอดไฟ LED เพื่อประหยัดพลังงาน การเปลี่ยนยานพาหนะในองค์กรที่ใช้น้ำมันเป็นรถ EV เพื่อลดมลภาวะและประหยัดพลังงาน เป็นต้น

Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม จากการใช้พลังงานที่องค์กรซื้อหรือนำเข้ามา โดยที่องค์กรไม่ได้ผลิตเอง มีทั้งหมด 5 รายการ ได้แก่ ไฟฟ้า ไอน้ำ ความร้อน ความเย็น อากาศอัด สำหรับวิธีการเก็บข้อมูลสามารถดูได้จากใบเสร็จ เช่น บิลจากการไฟฟ้า ซึ่งใน Scope 2 มีทางเลือกหลากหลายที่ธุรกิจสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ดังนี้

  • การใช้พลังงานหมุนเวียน ด้วยการติดตั้งระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงโซลาร์เซลล์หรือกังหันลม เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือซื้อพลังงานหมุนเวียน
  • การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เช่น เปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าแบบประหยัดพลังงาน หรือปรับปรุงระบบจัดการพลังงาน
  • การเพิ่มความรับรู้และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การประหยัดพลังงานภายในองค์กร เช่น การฝึกอบรมและการสื่อสารเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน หรือทำโปรแกรมลดการใช้พลังงานให้พนักงานมีส่วนร่วม
  • คอยตรวจสอบติดตามและวิเคราะห์การใช้พลังงาน พร้อมทั้งรายงานผลและตั้งเป้าหมาย
  • ร่วมมือกับผู้ให้บริการพลังงาน เพื่อพัฒนาทางเลือกพลังงานที่สะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ โดยองค์กรภายนอกที่เกิดขึ้นในซัพพลายเชน ทั้งทางต้นน้ำและปลายน้ำที่เกี่ยวข้องกับองค์กรหรือผลิตภัณฑ์ การวัดและการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 3 เป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าการวัดใน Scope อื่น ๆ เพราะครอบคลุมการปล่อยก๊าซที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่ไม่อยู่ในความควบคุมโดยตรงขององค์กร โดยจำแนกออกเป็น

    ต้นน้ำ (Upstream) ประกอบด้วย การผลิตสินค้าหรือบริการที่องค์กรซื้อมาใช้ การผลิตและการขนส่งสินค้าทุน กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน การขนส่งและการจัดจำหน่ายสินค้าหรือวัตถุดิบต้นน้ำมาถึงองค์กร การจัดการของเสียที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมขององค์กร การเดินทางเพื่อธุรกิจ การเดินทางไป-กลับของพนักงาน และสินทรัพย์ที่องค์กรเช่า

    ปลายน้ำ (Downstream) ประกอบด้วย การขนส่งและการจัดจำหน่ายสินค้าออกจากองค์กร การแปรรูปสินค้าที่องค์กรจำหน่าย การใช้ผลิตภัณฑ์โดยลูกค้า การจัดการของเสียของสินค้าหลังการใช้งานหรือหมดอายุ การปล่อยเช่าสินทรัพย์ที่องค์กรเป็นเจ้าของ กิจกรรมของแฟรนไชส์ที่องค์กรเป็นเจ้าของ และการลงทุนในกิจการหรือโครงการต่าง ๆ ซึ่งการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใน Scope 3 มีวิธีการหลัก ๆ ดังนี้

  • การวางแผนและการประเมินผล ทำการวางแผนระยะยาว เพื่อลดการปล่อยก๊าซในซัพพลายเชน และการติดตามประเมินผล
  • การให้ข้อมูลและการรายงาน การเก็บรวบรวมข้อมูลและการรายงานการปล่อยก๊าซใน Scope 3 อย่างโปร่งใสต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงการเผยแพร่ความสำเร็จและความท้าทายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • การมีส่วนร่วมของซัพพลายเชน ซึ่งต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ลูกค้า คู่ค้า หรือผู้เช่าสินทรัพย์ เพื่อช่วยกันสนับสนุนให้หันมาปรับปรุงกระบวนการผลิต เลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการขอข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจัดทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
  • ซึ่งปัจจุบันทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก บังคับให้มีการรายงาน Scope 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

    ในการรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร สามารถนำไปขึ้นทะเบียนที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะได้รับCertificate เพื่อรับรองว่าองค์กรปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่ในแต่ละ Scope เป็นการแสดงถึงการตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และเพื่อหาแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงสามารถนำไปขึ้นทะเบียนเพื่อซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในตลาดคาร์บอน หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่น ๆ ได้

    กิจกรรมในการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ทุกองค์กรจำเป็นต้องให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นวาระของโลก และเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งซัพพลายเชน สร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคม รวมถึงเป็นโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสินเชื่ออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ได้อีกด้วย


    แท็ก บัญชี  

    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ