ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฯ ชี้ 10 สัญญาณเตือน โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเช็คก่อน รู้ก่อนรักษาหายทัน

ข่าวทั่วไป Tuesday September 10, 2024 15:10 —ThaiPR.net

ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฯ ชี้ 10 สัญญาณเตือน โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเช็คก่อน รู้ก่อนรักษาหายทัน

ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย ชี้ 10 สัญญาณเตือน "โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง" ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรคร้ายแรงอันดับหนึ่งในบรรดาโรคมะเร็งทางระบบโลหิตวิทยา โดยในประเทศไทยมีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปีสามารถพบได้ทุกช่วงอายุ เป็นมะเร็ง 1 ใน 7 ของมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย เตือนเช็คร่างกายตนเอง รู้ก่อนสามารถรักษาหายได้ พร้อมร่วมรณรงค์เตรียมจัดงานให้ความรู้ เนื่องใน "วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก" ซึ่งตรงกับวันที่ 15 กันยายน ของทุกปี จัดเสวนา ปาฏิหาริย์ เปลี่ยนมะเร็ง ให้เป็นสุข - Miracle is all around ครั้งที่ 10 หรือ Miracle X ให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการรักษาแก่ผู้ป่วย รวมถึงส่งต่อกำลังใจผ่านกิจกรรมแบ่งปันประสบการณ์การต่อสู้กับโรคจนหายขาดโดยอดีตผู้ป่วย ปีนี้ทางชมรมได้กำหนดจัดงานในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 12.00 - 16.00 น. ณ ชั้น 3 โซน Eden ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ศ.นพ.ธานินทร์ อินทรกำธรชัย ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่พบได้บ่อยติดอันดับ 1 ใน 7 ของโรคมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย ปัจจุบันพบว่ามีผู้ป่วยใหม่ที่ได้รับการวินิจฉับว่าเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปีละกว่า 6000 ราย หรือเทียบเท่ากับ 16 รายต่อวันโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ Non-Hodgkin Lymphoma (NHL) และ Hodgkin Lymphoma (HL) ในคนไทย NHL เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย และสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทย่อย คือ ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent) และ ชนิดรุนแรง (Aggressive) โดยชนิดที่พบมากที่สุด คือ DLBCL คิดเป็นสัดส่วน 58% ของมะเร็งต่อมเหลืองในประเทศไทย2 อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่มีโอกาสหายขาดได้ โดยหากพบในระยะที่ 1 โอกาสหายขาดประมาณ 70-90% กรณีพบในระยะที่ 2-4 โอกาสหายขาดอยู่ที่ 60%

ดังนั้นเพื่อการตระหนักถึงตัวโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจึงควรสังเกตอาการของตนเองในระยะเริ่มแรก ส่วนใหญ่จะมี 10 สัญญาณเตือน 1. พบก้อนที่บริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ หรือเต้านม โดยที่ก้อนเหล่านั้นมักจะไม่มีอาการเจ็บ ซึ่งต่างจากการติดเชื้อที่มักจะมีอาการเจ็บที่ก้อน 2. มีไข้ หนาวสั่น 3. เหงื่อออกมากเวลากลางคืน 4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 5. อ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ 6. ไอเรื้อรัง 7. หายใจไม่สะดวก 8. ต่อมทอนซิลโต 9. มีอาการคันทั่วร่างกาย 10. ปวดศีรษะ (มักพบในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบประสาท)

อย่างไรก็ตาม สัญญาณเตือนข้างต้นเป็นเพียงจุดสังเกตง่าย ๆ ที่สามารถเช็คร่างกายได้ด้วยตัวเอง แต่อย่างไรก็ดี การคลำได้ก้อนในร่างกายอาจไม่ใช่มะเร็งเสมอไป โดยอาจเป็นเรื่องของการอักเสบจากการติดเชื้อ หรือเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้าย สามารถผ่าตัดให้หายได้ หรือในกรณีที่ก้อนนั้นเป็นเซลล์มะเร็งก็ตามที การตรวจพบสัญญาณของโรคในระยะเริ่มต้นก็มีโอกาสรักษาให้หายได้เช่นกัน

ปัจจุบันมีการรักษาที่หลากหลาย โดยการรักษามาตรฐานสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่ และเป็นชนิด Aggressive คือ การให้ chemotherapy ร่วมกับ Targeted therapy กลุ่ม monoclonal antibody โดยพบว่าประมาณ 60% ของผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษา อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมียา antibody-drug conjugate ซึ่งเป็น targeted therapy กลุ่มใหม่ ที่ให้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีขึ้นกว่าการรักษามาตรฐาน โดยมีอัตราการอยู่รอดโดยโรคสงบ (Progression-free survival) สูงขึ้น อย่างไรก็ตามข้อมูลปัจจุบันที่ 3 ปียังไม่มีความแตกต่างของอัตราการรอดชีวิต

ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาขนานแรก แนวทางการรักษามาตรฐานขั้นถัดไป คือ การทำ stem cell transplantation อย่างไรก็ตามการรักษาวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่ร่างกายมีความพร้อม และอายุไม่เกินกว่า 65 ปี เนื่องจากมีการใช้ยาเคมีบำบัดในขนาดสูงร่วมด้วย

ปัจจุบันมีทางเลือกของนวัตกรรมการรักษาที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยการทำ stem cell transplantation ได้แก่ การรักษาด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด (CAR-T Cell) หรือ Targeted therapy กลุ่ม Bi-specific antibody หรือ กลุ่ม Antibody-drug conjugate ร่วมกับ Chemotherapy ซึ่งให้ผลการรักษาดีในระดับที่น่าพอใจ

แม้ว่าขณะนี้สาเหตุการเกิดโรคหรือปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่พบมีความสัมพันธ์กับหลายภาวะ ได้แก่ การติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori, การติดเชื้อ ไวรัสอีบีวี (EBV) , ภาวะพร่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยพบว่าผู้ป่วย HIV มีอุบัติการณ์ของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเพิ่มขึ้น, โรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune disease) เช่น SLE , การสัมผัสสารเคมี เช่น สารกำจัดศัตรูพืช ดังนั้น การหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา จึงมีบทบาทสำคัญในการพบโรคในระยะเริ่มต้น และผลลัพธ์การรักษา

ศ.นพ.ธานินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองปัจจุบันถือว่าเป็นโรคมะเร็งที่สามารถพบได้บ่อย และพบเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี อย่างไรก็ตามเป็นโรคที่ตอบสนองกับการรักษาได้ดี และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ทำให้ทั่วโลกให้ความสำคัญ และตื่นตัวกับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นอย่างมาก จึงยกให้วันที่ 15 กันยายน ของทุกปี ตรงกับ "วันมะเร็งต่อมน้ำเหลืองโลก" ในปีนี้ "ชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย" จัดงานเสวนา "ปาฏิหาริย์ เปลี่ยนมะเร็ง ให้เป็นสุข : Miracle is all around X" ครั้งที่ 10 ในวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 12.00 - 16.00 น. ณ ชั้น 3 โซน Eden ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายในงานดังกล่าวมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ พูดคุยกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเจาะลึกถึงนวัตกรรมใหม่การรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ถาม-ตอบ กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบัน มาจุดพลังใจไปกับอดีตผู้ป่วย "The X Fighters : คนสู้โรค" ที่หายจากโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แรงบันดาลใจไม่สิ้นสุด "The X Team" โดย ชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย Miracle X Art Toys จากศิลปินชื่อดัง พร้อมกับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อช่วยผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง และ Miracle X Encourage โดย วิน เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร พร้อมกิจกรรม X Auction สุดพิเศษ!!

MIRACLE X Art Toys Collabs by เหล่าศิลปิน Art Toys ชื่อดัง และ วิน เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร ราคา 999 บาท สงวนสิทธิ์จำหน่ายภายในงานวันอาทิตย์ที่ 15 กันยายน เท่านั้น!! (รายได้ทั้งหมดมอบให้กับชมรมโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแห่งประเทศไทย โดยไม่หักค่าใช้จ่าย) ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ผู้ดูแล และประชาชนทั่วไป สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้?ฟรี!! โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ในการเข้าร่วมงาน ติดต่อสำรองที่นั่งได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันเสาร์ ที่ 14 กันยายน 2567

Line Official : @ThaiLymphoma อีเมลล์ ThaiLymphoma@gmail.com และดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : ThaiLymphoma TikTok : @ThaiLymphoma


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ