วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) คว้าโอกาสอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชียและทั่วโลกเติบโตดีต่อเนื่อง เร่งติวเข้มเซอร์วิสระดับลักซ์ชัวรีผ่านหลักสูตรและโครงการจัดอบรม เพิ่มศักยภาพบุคลากรรุ่นใหม่ด้วยเสน่ห์จากบริการที่เหนือชั้น พร้อมเติมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม วางเป้าดึงดูดคนรุ่นใหม่เดินเข้าสู่อุตสาหกรรมการบินมากขึ้นในอนาคต
อาจารย์ปวรรัตน์ สุภิมารส รักษาการคณบดี วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในภูมิภาคเอเชีย และทั่วโลกฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องจากหลายปัจจัยสนับสนุน ทั้งตัวเลขผลประกอบการของธุรกิจสายการบินที่เติบโตเป็นบวก การเปิดเส้นทางบินใหม่ พร้อมกับจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในจุดท่องเที่ยวสำคัญ ๆ เช่น ไต้หวันและฮ่องกง ไปจนถึงการเปิดรับบุคลากรเข้าทำงานในหลายตำแหน่งงาน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ ส่งผลให้ในภาพรวมทุกอย่างเริ่มกลับมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 โดยสอดรับกับรายงานการวิจัยตลาดของ Data Bridge Market Research ที่คาดการณ์อุตสาหกรรมการบินในเอเชียแปซิฟิก (APAC) ว่าเป็นภูมิภาคที่เติบโตเร็วที่สุดจากจำนวนผู้โดยสารทางอากาศเพิ่มมากขึ้น และการเพิ่มขนาดฝูงบินของสายการบินต่าง ๆ โดยคาดว่าการเติบโตขึ้นนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องถึงปี 2028
ติดปีก 'ลักซ์ชัวรี เซอร์วิส' คนธุรกิจการบิน
อาจารย์ปวรรัตน์ กล่าวว่า นอกจากการแข่งขันกันเปิดเส้นทางบิน และเพิ่มเที่ยวบินมากขึ้นของธุรกิจสายการบินแล้ว อีกหนึ่งแนวโน้มที่เกิดขึ้นเป็นการแข่งขันกันนำเสนอบริการที่แตกต่างและเป็นพรีเมียมมากขึ้น ซึ่งทาง CADT DPU มองเห็นโอกาสที่เกิดขึ้นนี้พร้อมทั้งได้ยกระดับการเรียนการสอนไปในแนวทางที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมการบิน โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาการให้บริการในระดับลักซ์ชัวรีให้กับนักศึกษาและบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน
โดยวิทยาลัยฯ และ DAA สถาบันฝึกอบรมด้านการบินที่ได้รับรองให้เป็น Authorized Training Center (ATC) ของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) เตรียมนำเสนอความเป็น "ลักซ์ชัวรี เซอร์วิส" เข้าไปในการเรียนการสอน และจัดอบรม เพื่อยกระดับงานบริการที่มีความเป็นพิเศษและแตกต่างในทุกมิติ ตั้งแต่ท่าทาง การแต่งกาย บุคลิก การสื่อสาร และอื่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรม และนักศึกษาที่เรียนในหลักสูตรปริญญาตรีทั้ง 2 สาขา ได้แก่ สาขาธุรกิจการบิน และสาขาวิชาการจัดการเทคโนโลยีและการอำนวยการบิน
"การให้บริการเป็นจุดเด่นคนไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากชาวต่างชาติอยู่แล้ว เมื่อเพิ่มการอบรมและพัฒนา พร้อมสร้างทัศนคติที่ดีด้านบริการเข้าไปจะยิ่งทำให้เป็นข้อได้เปรียบ นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรมการบิน และนักศึกษา ได้มีทักษะที่โดดเด่น และเป็นที่ต้องการของตลาดงานทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต อีกทั้งยังเป็นทักษะที่เอไอ หรือ Artificial Intelligence ไม่สามารถสัมผัสความรู้สึกระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ได้ดีเท่ากับการบริการโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังเพิ่มมุมมองด้านลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษาตามแนวทางของอุตสาหกรรมการบินที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ หรือ Net Zero ในปี ค.ศ.2050" อาจารย์ปวรรัตน์ กล่าว
ชูจุดแข็ง-ผนึกพันธมิตร ปูทางความสำเร็จสายอาชีพ
นอกจากการเพิ่มทักษะด้านบริการที่เหนือชั้นแล้ว CADT DPU ได้ให้ความสำคัญการสร้างอุปกรณ์การเรียน และสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) เช่น อุปกรณ์ฝึกการอพยพจากเครื่องบินกรณีฉุกเฉิน (Slide Drill), ห้องฝึกปฏิบัติการบนเครื่องบิน (Airbus300-600) และ เครื่องช่วยฝึกบินจำลอง Flight Simulator (Cessna 172 และ Boeing 737-800NG) เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ในอุตสาหกรรมการบินที่มากขึ้น
ในขณะเดียวกันได้พัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับการเรียนการสอน และเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาไปฝึกงานในสถานที่ปฏิบัติงานจริง โดยล่าสุดมีการลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการและวิชาชีพกับบริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต็อค จำกัด (เวียตเจ็ทไทยแลนด์) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกงานปฏิบัติงานจริงในตำแหน่งต่าง ๆ ของทางสายการบินเวียตเจ็ทไทยแลนด์
ทั้งนี้ CADT DPU ได้วางเป้าหมายการเติบโตไปพร้อมอุตสาหกรรมบินของไทยและทั่วโลก ด้วยการผลิตบุคลากรที่มีทักษะสูง และมีความพร้อมสำหรับการทำงานในสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดงาน เช่น กราวด์ เซอร์วิส และ นักบิน เป็นต้น รายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://cadt.dpu.ac.th/ และ https://www.daatraining.com/