เมื่อเร็วนี้ๆ รองศาสตราจารย์ ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นายกสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดการประชุมพิษวิทยาแห่งชาติครั้งที่ 14 (NCT14) เรื่อง "Toxicology for Sustainable Development" โดยสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมพิษวิทยาคลินิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชมรมพันธุพิษแห่งประเทศไทย ศูนย์ประเมินความเสี่ยงประเทศไทย และ Thailand LAB INTERNATIONAL 2024 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 11-12 กันยายน พ.ศ.2567 ณ ห้อง MR 224-225 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
รองศาสตราจารย์ ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาต นายกสมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ประธานจัดงานประชุม กล่าวว่า "การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นบทบาทสำคัญของนักพิษวิทยาในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญด้านผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของโลกในปัจจุบัน ผ่านการนำเสนอข้อมูลจากการศึกษาวิจัยที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ร่วมกันแลกเปลี่ยน และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นปัจจุบัน พร้อมส่งต่อความเข้าใจที่ถูกต้อง อ้างอิงได้ตามหลักวิชาการเพื่อสื่อสารไปยังผู้บริโภค" ทั้งนี้หนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน คือ การพัฒนาทางเทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการเกษตรอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น เช่น การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร หรือสารทดแทนต่างๆในผลิตภัณฑ์อาหาร การใช้สารเคมีที่หลากหลาย อาจ ส่งผลให้เกิดมลพิษและสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมและร่างกายมนุษย์ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีสาเหตุอันเนื่องมาจากการกระทำของมนุษย์ส่งผล ให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น PM2.5 เป็นต้น เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากทั่วโลก
ดังนั้น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ของนักวิจัยด้านพิษวิทยาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังและป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว โดยภายในงานประชุมมีการนำเสนอข้อมูลความเป็นอันตรายในการใช้สารเคมีอันส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมและนำเสนอแนวทางในการใช้สารทดแทนเพื่อแก้ปัญหามลภาวะในสิ่งแวดล้อม ปัญหาสารพิษตามธรรมชาติในอาหารที่สามารถคร่าชีวิตผู้บริโภคยังเป็นประเด็นอยู่เสมอทั้งในและต่างประเทศ เช่นกรณี การเสียชีวิตจากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษจากกรดบงเครคิก ถึงแม้จะเกิดในต่างประเทศในภูมิภาคเอเซียการรู้ถึงกลไกการเกิดพิษจะเป็นแนวทางในการเฝ้าระวังเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายอันนำไปสู่พิษที่ร้ายแรงถึงชีวิต นอกจากประเด็นดังกล่าวแล้วในก่รประชุมวิชาการยังมีการนำเสนอหัวข้อที่น่าสนใจต่างๆเช่น การประเมินความปลอดภัยของสารพิษจากเชื้อราในอาหาร ความรู้ด้านการพัฒนากฎระเบียบและการประเมินคุณภาพ และความปลอดภัยของโปรตีนทางเลือกต่างๆ การประยุกต์ใช้การทดสอบด้านพิษวิทยาด้วยวิธีทางเลือกเพื่อลดการใช้สัตว์เพื่อประเมินความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับระดับสากล ตลอดจนกรณีศึกษาด้านพิษวิทยาคลินิก ได้แก่ ข้อมูลภาวะพิษจากพาราเซตามอลในปัจจุบัน ความคลาดเคลื่อนทางยาเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของผู้ป่วย เป็นต้น
ทั้งนี้ การจัดประชุมภายใน 2 วันนี้ สมาคมพิษวิทยาแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นศูนย์กลางรวบรวมผลงานวิจัยและการศึกษาล่าสุดด้านพิษวิทยาจะได้นำผลงานวิชาการมาเผยแพร่เพื่อให้เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยน ประสบการณ์ของนักพิษวิทยา เพื่อช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมอย่างปลอดภัยและอย่างยั่งยืน