สคร.12 สงขลา เตือน โรคหัด อันตรายถึงชีวิต แนะผู้ปกครองนำบุตรหลานฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์

ข่าวทั่วไป Friday September 13, 2024 14:13 —ThaiPR.net

สคร.12 สงขลา เตือน โรคหัด อันตรายถึงชีวิต แนะผู้ปกครองนำบุตรหลานฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์

สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เตือนระวังโรคหัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง หลังพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น เด็กเล็กหากไม่ได้รับวัคซีน เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต พร้อมขอความร่วมมือผู้ปกครองนำบุตรหลานฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด ให้ครบตามเกณฑ์ เพื่อลดอัตราป่วย และป้องกันการเสียชีวิต

นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า โรคหัด เป็นโรคติดเชื้อไวรัสหัด (Measles) ในระบบทางเดินหายใจ ติดต่อจากละอองฝอยขนาดเล็กที่ฟุ้งในอากาศ หรือจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย ติดต่อกันได้ง่าย ผู้ป่วยจะเกิดผื่นขึ้นตามผิวหนังพร้อมเป็นไข้ร่วมด้วย พบได้ทุกช่วงอายุและพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อายุ 0 - 6 ปี โดยเฉพาะเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีน

ผู้ป่วยโรคหัด จะเริ่มมีอาการไข้ หลังได้รับเชื้อประมาณ 10 - 12 วัน ในระยะเริ่มแรกจะมีอาการคล้ายไข้หวัด มักตัวร้อนและอาจมีไข้สูงถึง 40 องศาเซลเซียส มีน้ำมูกไหล ไอบ่อย เจ็บคอ ตาแดงเยิ้ม หลังจากนั้นประมาณ 3 - 5 วัน จะมีผื่นนูนแดงเป็นปื้นขึ้นที่หลังหู ใบหน้า เหนือไรผม แล้วกระจายไปลำตัว แขน ขา บางรายอาจมีตุ่มแดง ที่มีสีขาวตรงกลางขึ้นในกระพุ้งแก้ม ควรรีบไปพบแพทย์ หากไม่ได้รับการรักษา อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ส่งผลให้เกิดสมองอักเสบ ปอดอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ ตาบอด ถ่ายเหลวและขาดน้ำรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้

นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหัดป้องกันได้ ด้วยการนำบุตรหลานไปฉีดวัคซีน MMR (Measles-Mumps-Rubella  Vaccine) จำนวน 2 เข็ม โดย ฉีดเข็มแรก เมื่ออายุ 9 เดือน และ เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งวัคซีนดังกล่าว สามารถป้องกันทั้งโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน

สคร.12 สงขลา ห่วงใยบุตรหลานของพี่น้องประชาชน ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนโรคหัด ควรพามาฉีดวัคซีนโดยด่วน ที่โรงพยาบาลรัฐใกล้บ้าน ฟรี และหากเด็กในปกครอง มีไข้ ไอ ตาแดง และมีผื่นแดงบริเวณใบหน้าและร่างกาย ให้แยกเด็กออกไม่ให้สัมผัสกับเด็กอื่น เป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ พร้อมยึดหลัก D-M-H เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อย ๆ  กรณีผู้สัมผัสผู้ป่วยโรคหัด ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคหัดให้เร็วที่สุดหลังสัมผัสโรค โดยไม่คำนึงถึงประวัติการติดเชื้อ หรือการได้รับวัคซีนมาก่อน หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหัด สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422     

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ