สัมภาษณ์แม่ทัพ "แทน" หัวหน้าทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT มจพ. แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย 2024

ข่าวทั่วไป Monday September 16, 2024 10:03 —ThaiPR.net

สัมภาษณ์แม่ทัพ

นายกลย์ภัทร์ บุญเหลือ ชื่อเล่น "แทน" นักศึกษาระดับปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมการผลิตและหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สมาชิกทีมหุ่นยนต์กู้ภัย iRAP ROBOT โดยรับบทบาทเป็นหัวหน้าทีม (Team leader) เปรียบเสมือน "แม่ทัพ" ที่ต้องดูแลการทำงานของสมาชิกในทีมหุ่นยนต์ ไม่ว่าจะเป็นการนัดประชุม วางแผนการทำงาน การสื่อสารและการกำหนดแนวทางต่าง ๆ ในการทำงานร่วมกันให้สอดคล้องและเหมาะสมแต่ละสนามการแข่งขันที่ได้รับโจทย์มา เพื่อการทำงานเป็นทีม (Team work) งานจะสำเร็จได้ก็เกิดจากความร่วมแรง ร่วมใจกันทำงาน ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน และอีกหนึ่งความรับผิดชอบและทำมาตลอดคือ Mechanical design เป็นตำแหน่งที่ต้องออกแบบ อย่างในปีนี้ที่ได้แชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัย 2024 จากการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย World Robocup Rescue 2024 ณ เมืองไอนด์โฮเวน ประเทศเนเธอร์แลนด์ "ผมได้รับหน้าที่ในการออกแบบชุดแขนกล ( Manipulator)" ด้วยหนุ่มมาดเข้ม สายคูล และผมเป็นคนที่ค่อนข้างอารมณ์ดี สนุกสนาม ร่าเริง แต่สำหรับคนภายนอกที่อาจจะไม่ได้รู้จักกัน ไม่เคยคุยกันมาก่อนก็ อาจจะมีความรู้สึกว่า เด็กคนนี้ดูดุจัง ไม่น่าจะเป็นคนที่เป็นมิตรซักเท่าไหร่!!! (แทนแอบขำ ขำ) แต่เวลาทำงานแล้วก็จะจริงจังไปเลย

"แทน" บอกว่า ก่อนที่ผมจะเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผมเป็นเด็กที่เรียนสาขา วิทย์-คณิต ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จากโรงเรียนรุ่งอรุณ กรุงเทพฯ และพบว่าผมมีความสามารถในด้านปฏิบัติมากกว่าด้านวิชาการ เมื่อเริ่มเข้าศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ "ผมมักจะมีคำถามเกิดขึ้นคือ สิ่งที่เรียนในแต่ละวิชา จะเอาไปใช้ในการทำงานจริงอย่างไร!!! " ทำให้เริ่มสนใจที่ทำกิจกรรมที่สอดคล้องกับการเรียน นั้นคือเหตุผลหลัก ๆ ที่เกิดความสนใจและเลือกที่จะเข้าร่วมทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ภายหลังที่เข้ามาอยู่ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot แล้ว การแข่งขันครั้งแรกคือ การแข่งขัน CRU Robot ซึ่งเป็นการแข่งขันหุ่นยนต์ขนาดเล็ก แต่ผลที่ได้จากการแข่งขั้นครั้งนั้นทำให้ "ผมรู้สึกเหนื่อย และ คิดว่าไม่อยากที่จะทำต่อแล้วอยากหยุดพัก" แล้วกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเด็กมหาวิทยาลัยปกติ เช้าเข้าเรียน เย็นกลับบ้านเล่นเกมทำอะไรที่อยากจะทำ ก็มาทบทวนว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง หรือเป็นเพราะว่าเรายังปรับตัวไม่ได้ การได้พบเจอเพื่อนใหม่ทั้งหมดหรือเปล่า!!! ยังไม่รู้ ผมเลือกที่จะทำต่ออีกหนึ่งการแข่งขัน นั่นคือ ABU Robot ซึ่งเป็นการแข่งขันที่ใหญ่ขึ้นมา ต้องใช้ความสามารถ และคนที่เยอะมากที่จะร่วมกันทำหุ่นยนต์ขึ้นมาสักตัว และการแข่งขันนี้ทำให้ผมได้รู้จักกับคนในทีมมากขึ้น ทั้งเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ รวมไปถึงอาจารย์ที่ปรึกษาของทีมชมรมด้วย และทำให้ผมรู้สึกว่าที่นี่คือครอบครัวมากขึ้น iRAP เป็นเหมือนบ้าน ที่นักศึกษา อาจารย์ มีหน้าที่ ที่จะทำให้บ้านหลังนี้ใหญ่มากขึ้น พัฒนา ปรับปรุงระบบภายในบ้านหลังนี้ให้น่าอยู่เพื่อที่จะพร้อมที่จะต้อนรับสมาชิกใหม่ที่อยากจะเข้ามาอยู่ในที่แห่งนี้ในทุก ๆ ปี นี่คือเหตุผลที่แท้จริงที่ทำให้ผมเลือกที่จะเข้าร่วมทีมหุ่นยนต์ iRAP ต่อ

ผลงานทุกและรางวัลที่ผมได้ ทั้งหมดเป็นความภาคภูมิใจมาก ๆ ไม่ว่าผมจะตกรอบในการแข่งขันครั้งแรกในรอบ 8 ทีม หรือรางวัลที่ใหญ่มาก ๆ อย่างการเป็นแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลก สมัยที่ 9 และ10 รางวัล Best in class mobility, Best in class Dexterity เพราะทุกการเข้าร่วมเกิดจากการที่ผมตั้งใจกับสิ่ง ๆ นั้นเต็มที่มาก ๆ แล้วและได้เรียนรู้ รู้สึก รู้จัก และได้พัฒนาตัวเองมาก ๆ ในทุก ๆ ครั้งที่เข้าร่วมการแข่งขัน

"แทน" เล่าต่อว่า ตำแหน่งที่ผมทำมาโดยตลอดคือ Mechanical design เป็นการออกแบบแขนกล ที่ต้องใช้ทักษะ และความรู้ด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์และออโตเมชัน เพื่อการออกแบบความคิด วิเคราะห์ และสร้าง อย่างในปีนี้ที่เข้าร่วมการแข่งขัน World Robocop Rescue 2024 ผมได้รับหน้าที่ในการออกแบบชุดแขนกล (Manipulator) ซึ่งเป็นจุดที่ผมแก้ไขข้อผิดพลาดมาโดยตลอด ตั้งแต่การแข่งขัน World Robocop ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และปีนี้ผมได้รับโอกาสให้เป็น "หัวหน้าทีม" (Team leader) ก็ต้องจัดประชุมใหญ่และย่อย ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนกแมคคานิค สำหรับการจัดประชุมภาพรวมของทีมหุ่นยนต์ ในปีนี้ที่ได้ดำเนินการไป ตนเองยังรู้สึกว่าทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ยังไม่สามารถเห็นภาพรวมของทีมได้มากกว่านี้ รวมไปถึงการวางแผนวิธีการทำงาน ว่าแต่ละวันส่วนของทีมที่ได้รับมอบหมายไปนั้นจะทำหน้าที่ขับเคลื่อนหุ่นยนต์ หรือทีมเขียนโปรแกรมเป็นคนตัดสินใจ หรือควบคุมในระบบเชื่อมต่อหรือส่งถ่ายข้อมูลระหว่างระบบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (LAN Cable) ส่งผลให้ระหว่างการแข่งขันเกิดความกดดันเพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการวางแผนหน้างานเพราะอาจะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น การเปลี่ยนแผนเล่นระหว่างการแข่งขันการปล่อยสายแลน (LAN Cable) ในแต่ละจุดเพื่อให้คนขับและหุ่นยนต์ขับเคลื่อนที่หุ่นยนต์ไปได้ทั่วสนาม

จากการที่ไปร่วมการแข่งขันในเวทีโลกทุก ๆ ปี ในส่วนตัวผมคิดว่า สมัยแรก ๆ ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot อาจจะไม่ได้อยู่ในสายตาของประเทศอื่น ๆ มากเท่าไหร่ เราอาจจะเป็นม้ามืดในหลาย ๆ ปี ภายหลังจากนั้น ทีมหุ่นยนต์ iRAP Robot ค่อนข้างได้รับความสนใจและได้ยินการพูดถึงจากประเทศอื่น ๆ เริ่มมีคนความสนใจตัวแทนจากประเทศมากขึ้น เริ่มตกใจกับสิ่งที่เราพัฒนาและแก้ไขในทุก ๆ ปี และเราไม่สามารถที่จะหยุดพัฒนาได้ เพราะเทคโนโลยีค่อนข้างเคลื่อนที่เร็ว และการพัฒนาก็ไปเร็วเช่นกัน ทำให้ทีมต้องเรียนรู้และสังเกตุสิ่งที่ต่างประเทศได้พัฒนา เพื่อมาลดจุดด้อยและเพิ่มประสิทธิภาพของหุ่นยนต์เรามากขึ้น แต่สิ่งที่เราแสดงทุกครั้งในการแข่งขันระดับโลก คือ ทำให้รู้ว่าประเทศไทย นักศึกษาไทย สามารถผงาดเวทีโลก และสู้ประเทศอื่นได้ หากยังมีการส่งเสริมและซัพพอร์ตมากเพียงพอ

นักศึกษาทีม iRAP Robot มีคติเดียวกันคือ iRAP is not a place, it's a people. ซึ่งแปลเป็น ไอราฟไม่ใช่แค่สถานที่ แต่คือผู้คน iRAP ทุกคนมีจุดมุ่งหมายที่คล้ายคลึงกัน ทำให้ทีมสามารถพัฒนาและโชว์ศักยภาพออกมาได้ดีในทุก ๆ ปี แต่มีคำพูดติดปากอีกอย่าง คือ อะไรเอ่ยเกิดขึ้นตอนตี 2 ซึ่งจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ในทุก ๆ วัน และเป็นเรื่องโจ๊ก เรื่องตลกในทุก ๆ ครั้งที่เราทำงานร่วมกัน ผมขอขอบคุณ อาจารย์ที่ปรึกษาชมรม พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมและทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีมากที่สุด ๆ เพื่อน ๆ ในทีมการทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ทุกคนรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไรเจอปัญหา ปรึกษาและแก้ไขกันได้โดยตลอด ส่งผลให้เราสามารถได้รับรางวัลในทุก ๆ การเข้าร่วมการแข่งกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ