คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดโครงการ "พุทธศิลป์ พุทธศึกษา จากพระพุทธปฏิมาสู่การอนุรักษ์"

ข่าวทั่วไป Monday September 16, 2024 10:18 —ThaiPR.net

คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จัดโครงการ

คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จัดโครงการ "พุทธศิลป์ พุทธศึกษา จากพระพุทธปฏิมาสู่การอนุรักษ์" เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการ พระสงฆ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา โดยมี ศ.ดร.ขำคม พรประสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.กนกพร บุญศิริชัย รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ในการนี้ พระราชวชิรากร เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ ประธานฝ่ายสงฆ์ กล่าวนำสัมโมทนียกถา

โครงการ "พุทธศิลป์ พุทธศึกษา จากพระพุทธปฏิมาสู่การอนุรักษ์" ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ในการสืบสานและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ประกอบด้วยการบรรยายและการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการถวายความรู้จากการวิจัยแด่สังฆาธิการ คณะสงฆ์ในจังหวัดอุตรดิตถ์ 50 รูป สาธิตการเตรียมวัสดุเพื่อใช้ทำความสะอาดพระพุทธปฏิมา จากองค์ความรู้ภูมิปัญญาเชิงช่างโบราณที่ใช้วัสดุจากท้องถิ่นในประเทศไทย โดยคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้บูรณาการความรู้ด้านพุทธศิลป์กับเทคโนโลยีนิวเคลียร์โดยความร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) นับเป็นก้าวสำคัญยิ่งในการบูรณาการความรู้เพื่อรักษาภูมิปัญญาของชาติให้ยั่งยืน โดยมี รศ.ดร.จีราวรรณ แสงเพ็ชร์ หัวหน้าภาควิชาทัศนศิลป์ บุกเบิกโครงการเพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาพุทธศิลป์มาอย่างต่อเนื่อง

วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้งเป็นศาสนสถานสำคัญของชาติ ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาที่สำคัญคือ พระศรีอริยเมตไตรยหรือพระอนาคตพระพุทธเจ้าหล่อด้วยสำริด จากการสำรวจและพิจารณารูปแบบพุทธศิลป์พบว่าพระศรีอาริยเมตไตรย วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เป็นผลงานศิลปกรรมชิ้นเอกสมัยอยุธยาตอนปลายที่มีรูปแบบและเทคนิคเชิงช่าง นำไปสู่การศึกษาวิจัยเชิงลึกและการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปกรรม โดยความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตลอดจนการอนุรักษ์พระพุทธปฏิมาด้วยภูมิปัญญาเชิงช่างเทคนิคโบราณที่ใช้วัสดุจากท้องถิ่นในประเทศไทย

ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้วิเคราะห์พระพุทธปฏิมาด้วยเทคนิคการวาวรังสีเอกซ์ X-ray fluorescence (XRF) เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบธาตุส่วนผสมในการหล่อพระพุทธปฏิมา โดย ดร.ศศิพันธุ์ คะวีรัตน์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) รวมทั้ง พล.ต.รศ.ดร.สุรัตน์ เลิศล้ำ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยสหวิทยาการเฉลิมพระเกียรติ 5 รอบ พลเอกหญิง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ถวายความรู้เรื่องการทำจัดแผนที่ ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อแสดงสิ่งปลูกสร้างและอาณาบริเวณของวัด นับเป็นการบูรณาการศาสตร์ชั้นสูงในแขนงต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ