กรมส่งเสริมการเกษตร รวมพลสานพลังคนเกษตร ดีเดย์เดือน 9 ในวันที่ 11-13 เดือนกันยายน 2567 สนองนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2566 - 2570) และแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ ในประเด็นการพัฒนาที่ 2 ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร แนวทางการพัฒนาที่ 6 การพัฒนาระบบนิเวศการเกษตร ด้วยการให้ความสำคัญกับมาตรการสนับสนุนที่จะช่วยให้การสร้างมูลค่าในภาคเกษตรดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพและการจัดการฐานทรัพยากรทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับครัวเรือนเกษตรกรและชุมชน การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศและการเฝ้าระวังและเตือนภัยสินค้าเกษตร ส่งเสริมการรวมกลุ่มเกษตรกร วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สนับสนุนภาคการเกษตร พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมและขยายตลาดสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตร และการอำนวยความสะดวกทางการค้าและพัฒนาระบบโลจิสติกส์การเกษตร และประเด็นการพัฒนาที่ 3 สร้างความเสมอภาคและกระจายความเท่าเทียมทางสังคมเกษตร แนวทางการพัฒนาที่ 3 การยกระดับศักยภาพของเกษตรกรกรรายย่อยให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจ ด้วยการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer ) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเกษตรกร และยกระดับเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการเกษตรที่มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตและการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การบริหารจัดการกิจการ และการตลาดสินค้าเกษตร ตลอดจนสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการเกษตรต้นแบบ สนับสนุนและสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ประกอบการเกษตรต้นแบบ สร้างพื้นฐานในการประกอบการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่ทันสมัย
สำหรับการพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) และสร้างคนรุ่นใหม่เข้าสู่การเกษตรยุคใหม่นั้น กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้าผลิต พัฒนา และยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่ให้เป็น Young Smart Farmer ด้วยการเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ และสร้างทักษะด้านนวัตกรรมการเกษตร การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เครื่องมือ/เครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนการปลูกฝั่งแนวคิดในการพัฒนาตนเองควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนชุมชน โดยมุ่งหวังให้ Smart Farmer และ Young Smart Farmer มีความรู้ความสามารถด้านวิชาการเกษตรทั้งระบบเพื่อความยั้งยืนในการประกอบอาชีพการเกษตร การพึ่งพาตนเอง การสร้างเครือข่ายเกษตรกร และการแข่งขันทางการค้าในอนาคต ซึ่งความสามารถในการทำการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนจากทำมากได้น้อยเป็นทำน้อยได้มาก เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการเกษตรแบบดังเดิมไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ เน้นการบริหารจัดการเทคโนโลยี (Smart Farming) และการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Farming) มีการใช้วิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนาที่สามารถต่อยอดเป็นกลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech) สร้าง New Startups ด้านเทคโนโลยีการเกษตร การเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตรให้เป็นสินค้ากลุ่มอาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เพื่อการพัฒนา Digital Market รวมถึงการส่งเสริมให้เกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่หรือกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ได้รับการพัฒนาศักยภาพรายบุคคลให้เป็น Smart Farmer โดยการส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรของเกษตรกรแปลงใหญ่ให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและเพิ่มรายได้ของเกษตรกรแปลงใหญ่ที่มีการบริหารจัดการร่วมกัน ให้เกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงานผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ตลอดจนการจัดการด้านการตลาด ช่วยพัฒนาเกษตรกรแปลงใหญ่ให้มีศักยภาพตามคุณสมบัติของ Smart Farmer มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและมีการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพสู่การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรตามความต้องการตลาด เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองของเกษตรกรตลอดห่วงโซ่อุปทาน
การจัดกิจกรรมสานพลังคนเกษตรครั้งนี้ ยกผลความสำเร็จของ Smart Farmer และ Young Smart Farmer มาจัดแสดง ประกอบด้วย 1.ผลงานผลิตและจำหน่ายแก้วมังกรอำเภอเมืองแพร่ ของนางเกศกานดา ชาวสวนกล้วย Smart Farmer และนายฤชภูมิ ถิ่นฐาน Young Smart Farmer จากจังหวัดแพร่ ที่ทำการวิเคราะห์อย่างแม่นยำในทุกปัจจัยการเกษตรเพื่อใช้ตลอดกระบวนการ ตั้งแต่การจัดการพื้นที่ พันธุ์พืช ดินปุ๋ย น้ำ เครื่องจักร การจัดการศัตรูพืช การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการตลาด 2.ผลงานลำไยคุณภาพ ของนายอยุธ โชยยอง Smart Farmer และนายรวินทร์ธนันตถ์ วงษ์สารสนิท Young Smart Farmer จากจังหวัดลำพูน ที่มีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตลำไยโดยการแปรรูปเป็นเครื่องดื่มและผงลำไยไฟเบอร์ รวมถึงพัฒนาคุณภาพมาตรฐานตลอดกระบวนการผลิตไปถึงช่องทางการจำหน่ายด้วย นับเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสริมทักษะและความมุ่งมั่นในการประกอบอาชีพการเกษตร เท่าทันวิกฤตการณ์และสถานการณ์โลกพร้อมปรับตัวสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในเรื่องนวัตกรรมการทำการเกษตรและอาหารแห่งอนาคต ฝึกทักษะสำคัญอันประกอบด้วยทักษะการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม เข้าใจถึงคาร์บอนเครดิตตัวช่วยธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างเครือข่ายสอดคล้องกับการพัฒนาการเกษตรของชาติ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของ Smart Farmer และ Young Smart Farmer ด้วยกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ บูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระดับพื้นที่ได้อย่างมีส่วนร่วม เชื่อมโยงเป็นกลุ่มเครือข่ายที่สร้างโอกาสได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาคี เกิดความแข็งแกร่งตามวิสัยทัศน์ Thailand Vision ที่มุ่งเป้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน นำไปสู่การพัฒนาการเกษตรไทยอย่างสร้างสรรค์ในอนาคต