"หุ่นกระติบ" งานหัตถกรรมถิ่นอีสาน จากภูมิปัญญาครูหมอลำหุ่นกระบอก

ข่าวทั่วไป Tuesday September 17, 2024 11:46 —ThaiPR.net

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ส่งต่อองค์ความรู้ในงานศิลปหัตถกรรม นำเสนอการสร้างสรรค์ผลงานหัตถกรรมไทย "หุ่นกระติบ" โดยครูปรีชา การุณ จากจังหวัดนครราชสีมา ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูให้เป็น "ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ปี 2567" ของ สศท. สะท้อนอัตลักษณ์แห่งวิถีชีวิตของภาคอีสาน ถ่ายทอดเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นมรดกแห่งภูมิปัญญาของไทย

"หุ่นกระติบ" คือ ผลงานการสร้างสรรค์หุ่นกระบอกโดยครูปรีชา การุณ ครูช่างศิลปหัตถกรรมไทย ปี 2567 ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ที่นอกจากจะเป็นงานหัตถกรรมที่สะท้อนมรดกทางภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของชาวอีสานแล้ว ยังเป็นงานศิลปหัตถกรรมที่ใช้ในการเชิดแสดงละครหมอลำ ซึ่งเป็นศิลปะการแสดงของชาวอีสาน

ครูปรีชา กล่าวว่า ในอดีตหุ่นที่ใช้ประกอบการสอน และการละเล่นจะเป็นหุ่นที่ทำจากโฟมหรือฟองน้ำ ซึ่งดูแล้วไม่สวยงามมากนัก จึงคิดหาวิธีทำหุ่นแบบใหม่ จนวันนึงได้ไปเห็นคนสูงอายุในชุมชนกำลังนั่งสานหวดและกระติบข้าวเหนียวอยู่ ซึ่งข้างๆ มีกระติบข้าวเหนียวใบเล็กวางซ้อนอยู่บนใบใหญ่ ทำให้ดูเหมือนหัวคนที่กำลังอ้าปากอยู่ ด้วยความที่ทำหุ่นมาก่อน เลยมองว่ารูปทรงนี้น่าจะเอาไปต่อยอดทำหุ่นได้ จึงเปิดขอรับบริจาคกระติบข้าวที่ผุพัง หรือใช้ไม่ได้แล้ว เพื่อนำมาทดลองทำเป็นตัวหุ่น โดยหาวัสดุท้องถิ่น เช่น ผ้านุ่ง ผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น เพื่อนำมาตกแต่งหุ่น และใช้ไม้ไผ่เป็นโครงสร้างในการทำเป็นหุ่นเชิด ที่สามารถใช้เชิดแสดงละครได้ หุ่นกระติบส่วนใหญ่ จะออกแบบสะท้อนให้เห็นวิถีชาวอีสาน ซึ่งกว่าจะได้มาแต่ละตัวก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาทำนาน เพราะต้องให้สามารถขยับแขนขาได้เหมือนคน โดยองค์ประกอบของหุ่นหนึ่งตัวนั้น ส่วนหัวใช้กระติบข้าวใบเล็ก โดยนำมูลควายหรือขี้เลื่อยมาทำเป็นคิ้ว และใช้เชือกป่านทำเป็นหู ส่วนลำตัวใช้กระติบข้าวใบใหญ่ ขณะที่แขนขาจะใช้ไม้ไผ่ที่หาได้ตามท้องถิ่นมาทำ ส่วนชุดของหุ่นจะใช้ผ้าขาวม้าเก่าหรือผ้าซิ่นที่ไม่ได้ใช้แล้วนำมาตัดเย็บ ข้อดีของหุ่นกระติบ อยู่ที่น้ำหนักเบามาก เพราะข้างในกลวง โดยการเชิดหุ่นหนึ่งตัว ต้องใช้คนเชิดถึง 3 คน โดยคนแรกมีหน้าที่ขยับส่วนหัว คนที่สองขยับส่วนแขน และคนที่สามขยับส่วนขา ซึ่งทั้ง 3 คนนี้ต้องเชิดให้ตรงกับเสียงคนพากย์

ปัจจุบัน นอกจากการเป็นครูผู้สอนวัฒนธรรม และเรื่องเล่าของชาวอีสานผ่านการเชิดหุ่นแล้ว ครูยังได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาการสร้างสรรค์ "หุ่นกระติบ" แก่เด็ก ๆ ภายในชุมชน เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมถึงยังชวนเด็ก ๆ ร่วมออกแสดงหมอลำหุ่นกระบอกร่วมกับคณะหมอลำหุ่นเด็กเทวดา เป็นการสร้างประสบการณ์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของครูปรีชาฯ อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ