ศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ เป็นบริษัทเอกชนรายแรกในประเทศไทยและผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายเดียวของโลกที่ได้รับการรับรองจาก AAALAC International

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 17, 2024 11:47 —ThaiPR.net

ศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ เป็นบริษัทเอกชนรายแรกในประเทศไทยและผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายเดียวของโลกที่ได้รับการรับรองจาก AAALAC International

ศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงชั้นนำระดับโลก ก้าวสู่ความสำเร็จครั้งสำคัญในการเป็นบริษัทเอกชนรายแรกในประเทศไทยและผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงเพียงรายเดียวของโลกที่ได้รับการรับรองจาก Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care หรือ AAALAC International ในระดับสูงสุด ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ประเมินและรับรองการวิจัยที่ยึดหลักปฏิบัติด้านการดูแลสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ด้วยความรับผิดชอบและถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณ

นายพิชิตชัย วงศ์ปิยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "สำหรับไอ-เทล เรามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ศูนย์วิจัย i-Cattery ของเราได้รับการรับรองจาก AAALAC International ซึ่งถือเป็นก้าวแห่งความสำเร็จครั้งสำคัญของเราในการรักษามาตรฐานสูงสุดด้านการวิจัยและการดำเนินงานทางวิทยาศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงการดูแลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของผู้ที่ปฏิบัติงานภายในศูนย์วิจัยฯ โดยเราเชื่อมั่นว่าการได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลกในครั้งนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายของเราถึงความเข้มแข็งของกระบวนการทำงานด้านการวิจัยและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ ถูกต้อง และแม่นยำ อีกทั้ง เรายังมุ่งหวังในการเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงให้ก้าวไปสู่ความเป็นเลิศด้านการวิจัยควบคู่ไปกับการกำกับดูแลแนวทางการปฏิบัติอย่างมีจริยธรรมสูงสุด"

ศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery ได้รับการรับรองจาก AAALAC International สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการรักษามาตรฐานสูงสุดด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ โดย AAALAC International เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีชื่อเสียงระดับโลกเพียงหนึ่งเดียวในการส่งเสริมและรับรองการปฏิบัติต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ตามหลักจริยธรรมด้วยโปรแกรมการรับรองมาตรฐานโดยสมัครใจ ปัจจุบันทาง สถาบันได้ให้การรับรองหน่วยงานต่างๆ กว่า 1,100 แห่ง ซึ่งรวมถึงมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล และสถาบันวิจัยต่างๆ ในกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเพื่อเป็นการยืนยันถึงความรับผิดชอบในการดูแลและปฏิบัติต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้องเหมาะสมตามมาตรฐานสากล

สัตวแพทย์หญิงศรีสุภา พงศ์ศรีวัฒน์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery กล่าวว่า "การได้รับการรับรองมาตรฐานสากล AAALAC International ในครั้งนี้ สำเร็จได้ด้วยความทุ่มเทและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากบุคลากรของ i-Cattery โดยเรามีความเชื่อมั่นว่าการวิจัยอย่างมีจริยธรรมและผลลัพธ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ดีเยี่ยมสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ สำหรับระบบปฏิบัติการภายในศูนย์วิจัยฯ เราให้ความสำคัญกับการดูแลน้องแมวทุกตัวของเราอย่างเต็มที่ โดยใช้ระบบอนามัยเข้ม (Strict Hygienic Conventional) ในการเลี้ยงแมว เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีการควบคุมอุณหภูมิ  ใช้ระบบการถ่ายเทอากาศและความชื้นที่เหมาะสมตามมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ ระบบการกรองอากาศมาตรฐานเทียบเท่ากับโรงพยาบาลของคน รวมถึงมีขั้นตอนการตรวจคัดกรองโรคและการกักตัว (Quarantine) สำหรับพนักงานแมวใหม่ก่อนเข้าศูนย์วิจัยฯ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าน้องแมวของเรามีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลกระบวนการทำงานทางวิทยาศาสตร์ การฝึกอบรมและการให้ความรู้แก่พนักงานของเราเกี่ยวกับแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดที่สอดคล้องตามมาตรฐาน AAALAC และที่สำคัญที่สุดคือการยึดมั่นในความโปร่งใสและการพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นเลิศในด้านสวัสดิภาพสัตว์และหลักปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากลต่อไป"

ความสำเร็จในการได้รับการรับรองจาก AAALAC International ระดับสูงสุดในครั้งนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงการดำเนินงานของ i-Cattery ในระดับประสิทธิภาพและความสอดคล้องที่มากกว่ากว่าข้อกำหนดพื้นฐาน โดยต้องผ่านการทบทวนกระบวนการทำงานภายในที่เข้มงวด รวมถึงการตรวจสอบภาคสนามอย่างละเอียดจากสภาการรับรองมาตรฐานของ AAALAC เพื่อยืนยันว่าทางศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery ปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนดอย่างครบถ้วน การรับรองนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความเป็นเลิศของระบบปฏิบัติการและบุคลากรเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงความเป็นผู้นำในด้านการวิจัยอย่างมีจริยธรรม ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์กับหลักสวัสดิภาพสัตว์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ