สศท. เชิดชูครูผู้สืบสานภูมิปัญญางานหัตถกรรมแทงหยวกที่ใกล้สูญหาย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 18, 2024 09:09 —ThaiPR.net

สศท. เชิดชูครูผู้สืบสานภูมิปัญญางานหัตถกรรมแทงหยวกที่ใกล้สูญหาย

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ส่งต่อองค์ความรู้ งานศิลปหัตถกรรมไทย มุ่งสืบสานภูมิปัญญางานหัตถกรรมหัตถกรรมแทงหยวกที่ใกล้จะสูญหาย โดยครูสมคิด คชาพงษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2563 ในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

งานแทงหยวก เป็นงานหัตถศิลป์ไทยที่มีมาแต่โบราณ ต้องอาศัยความชำนาญและทักษะฝีมือของช่างฝีมือ ที่ต้องใช้มีดสองคมแทงลงไปบนกาบกล้วยให้เกิดลวดลาย งานแทงหยวกจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ งานแทงหยวกรูปแบบราชสำนักในสมัยโบราณ และงานแทงหยวกรูปแบบสกุลช่างทั่วไป โดยกลุ่มช่างแทงหยวกที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นคือช่างแทงหยวกสายตระกูลวัดอัปสรสวรรค์ ย่านภาษีเจริญ โดยครูสมคิด คชาพงษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2563 ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) ที่ยังคงไม่ละทิ้งภูมิปัญญาการแทงหยวก และสืบทอดกระบวนการทำงานจากบรรพบุรุษเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ครูสมคิดฯ มีความชำนาญในด้านการเขียนลวดลายไทยทำให้สามารถแทงหยวกได้ทุกลวดลาย ทั้งลวดลายแบบโบราณดั้งเดิม และ ลวดลายแบบร่วมสมัย บางลวดลายถูกจำกัดให้ใช้ได้เฉพาะในงานพระราชพิธีเท่านั้น เช่น ลายลูกแก้ว และลายช่องกระจก เป็นต้น ลวดลายทั่วไป เช่น ลายฟันปลา ลายฟันสาม ลายฟันห้า ลายเกลียวกนก ลายกนกเสาแข้งสิงห์ ลายสิงห์กนก เป็นต้น จึงทำให้เชี่ยวชาญในการแทงลวดลายลงบนกาบกล้วยได้โดยไม่ต้องร่างลวดลายไว้ก่อน ลวดลายที่แทงไม่มีจุดขาด และด้วยความเชี่ยวชาญในการแทงหยวกจากฝั่งซ้ายมาสุดที่ฝั่งขวาโดยไม่ยกมือออกทำให้ลวดลายต่อเนื่องตลอดทั้งชิ้นงาน นอกจากนี้ งานแทงหยวกฝีมือครูสมคิดฯ ยังคงอนุรักษ์การทำงานตามรูปแบบภูมิปัญญาดั้งเติม ด้วยการเลือกใช้หยวกกล้วยตานี ในการทำงานเพราะเป็นพันธุ์ที่มีช่องน้ำเลี้ยงกว้าง จึงเก็บน้ำเลี้ยงได้มากกว่ากล้วยพันธุ์อื่น ๆ มีกาบสีขาวนวล เนื้อมีความเหนียวไม่กรอบหรือแตกหักได้ง่าย

ปัจจุบัน เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไปความนิยมของงานแทงหยวกเริ่มลดน้อยถอยลง แต่ครูสมคิดฯ ยังคงเล็งเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์และสืบสานงานแทงหยวกสายตระกูลช่างวัดอัปสรสวรรค์ เพราะกลัวว่าจะเลือนหายไปตามกาลเวลา จึงมุ่งมั่นและทุ่มเทเผยแพร่งานแทงหยวกโบราณที่แสดงถึงทักษะฝีมือเชิงช่างของบรรพบุรุษมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้มรดกในงานศิลปหัตถกรรมไทยที่ใกล้สูญหายยังคงอยู่ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย จึงได้จัดโซน Live Exhibition เพื่อให้ผู้ที่สนใจร่วมชื่นชมงานหัตถศิลป์ล้ำค่ามรดกทางภูมิปัญญาที่ใกล้สูญหายจากครูผู้สร้างสรรค์อย่างใกล้ชิด สามารถเข้าชมได้ในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน 2567 เวลา 10.00 - 20.00 น. ณ ฮอลล์ 5 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ