ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ประกาศผลประกอบการและฐานะการเงินประจำปี 2547 หลังการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระและประกาศจ่ายเงินปันผล

ข่าวทั่วไป Friday February 25, 2005 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ธ.ไทยพาณิชย์
ธนาคารไทยพาณิชย์แจ้งผลประกอบการประจำปี 2547 หลังการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระ มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์จำนวน 18,489 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4 จากจำนวน 12,460 ล้านบาทในปี 2546 ซึ่งผลประกอบการธนาคารภายหลังการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระไม่เปลี่ยนแปลงจากผลประกอบการเบื้องต้นที่ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2548 อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้มีการตัดหนี้สูญเพิ่มจำนวน 8,422 ล้านบาท ทำให้สินเชื่อ ณ สิ้นปี 2547 มีจำนวน 555,450 ล้านบาทหรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 9.7 และทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ลดลงเป็น 73,947 ล้านบาทหรือร้อยละ 13.1
ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวภายหลังจากการประชุมคณะกรรมการธนาคารในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ว่า
"ในปี 2547 ธนาคารสามารถทำกำไรได้ถึง 18,489 ล้านบาท และปัจจุบันจำนวนเงินกองทุนของธนาคารมีจำนวนสูง แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงทางการเงิน คณะกรรมการธนาคารจึงเห็นสมควรที่จะเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายนนี้ให้จ่ายเงินปันผลในอัตราที่สูงขึ้นมากจากปีก่อนคือหุ้นละ 2.0 บาท คิดเป็นเงินปันผลต่อกำไรสุทธิร้อยละ 36 เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งคณะกรรมการเชื่อว่าเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลที่น่าพอใจสำหรับผู้ถือหุ้น"
ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นธนาคารพาณิชย์เอกชนรายแรกที่จ่ายเงินปันผลหลังวิกฤตเศรษฐกิจ โดยในปี 2547 จ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 1.40 บาทจากผลประกอบการปี 2546 ที่มีกำไรสุทธิ 12,460 ล้านบาท สำหรับปีนี้ จะมีการปิดสมุดทะเบียนเพื่อสิทธิในการประชุมผู้ถือหุ้นและเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผลในวันที่ 16 มีนาคม 2548 และ วันที่ 20 เมษายน 2548 ตามลำดับ
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวเสริมว่า
"ผลประกอบการธนาคารภายหลังการตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีอิสระนั้น ไม่เปลี่ยนแปลงจากก่อนการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้พิจารณาตัดหนี้สูญเพิ่มจำนวน 8,422 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ได้จัดชั้นหนี้สำหรับหนี้ที่คาดว่าจะปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2548 เพิ่มจำนวนหนึ่งเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้ NPL ลดลงเป็น 73,947 ล้านบาทหรือร้อยละ 13.1 ส่วนอัตราส่วนสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อ NPL ยังคงอยู่ในระดับสูงคือร้อยละ 83"
ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 433 ลงวันที่ 26 มกราคม 2548 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรและคำสั่งกรมสรรพากรลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 ได้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้และธนาคารสำหรับรายการที่เกิดจากการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2548-2549 แต่ลูกหนี้ต้องเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพก่อนวันที่ 1 มกราคม 2548
สำหรับรายการสำคัญในงบการเงินรวมปี 2547 ของธนาคารภายหลังการตรวจสอบมีดังนี้
กำไรสุทธิของธนาคารรวมบริษัทย่อยมีจำนวน 18,489 ล้านบาท โดยรายได้และค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปมีแนวโน้มเช่นเดียวกับรายได้ที่แสดงในงบการเงินเฉพาะของธนาคาร กล่าวคือ เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2546 รายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิเพิ่มขึ้น 1,687 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.6 รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 10,386 ล้านบาทหรือร้อยละ 90.8 ส่วนใหญ่จากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากเงินลงทุน และค่าธรรมเนียมและบริการ ส่วนค่าใช้จ่ายที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 3,241 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.5 โดยมีสาเหตุหลักจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน อาคาร สถานที่และอุปกรณ์ และค่าธรรมเนียมและบริการ
งบดุลรวมซึ่งรวมผลการดำเนินงานของบริษัทย่อย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2547 มีสินทรัพย์รวม 764,894 ล้านบาท (สิ้นปี 2546 : 746,838 ล้านบาท) หนี้สินรวม 681,795 ล้านบาท (สิ้นปี 2546 : 670,180 ล้านบาท) และ ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 83,099 ล้านบาท (สิ้นปี 2546 : 76,659 ล้านบาท)--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ