กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--
"กระเทาะเปลือก 4 นักการตลาด" กับกลยุทธ์ Low Cost Marketing การตลาดถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าได้อย่างไม่ลังเลใจ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ย่อมมีงบประมาณจำนวนมากที่จะใช้ในกิจกรรมการตลาดรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนจดจำสินค้าและบริการ แต่สำหรับธุรกิจ SMEs อาจไม่สามารถทุ่มเทงบประมาณมากมายนัก ทางออกที่ดีที่สุดคือหาหนทางในการทำการตลาดด้วยต้นทุนต่ำ หรือการใช้เงินและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด การสัมมนานี้ จึงเกิดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อให้ SMEs ได้รับรู้ถึงมุมมองจากวิทยากรผู้เป็นกูรูด้านการตลาดทั้ง 4 ท่าน ที่จะทำให้ผู้ประกอบการได้มองเห็นแนวทางการทำตลาดที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง นิตยสาร SME Thailand ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดสัมมนาในหัวข้อ Low cost Marketing เมื่อ “กึ๋น” สำคัญกว่า “เงิน” ฟรีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs โดยเชิญวิทยากรชื่อดังมาบอกเล่ายุทธวิธีในการสร้างแบรนด์ และสร้างความนิยมชมชอบในสินค้าด้วยงบประมาณที่จำกัด โชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทฟาร์มโชคชัย ที่ถือเป็นคาวบอยเมืองไทยตัวจริงเสียงจริงนั้น มีโมเดลธุรกิจที่ชัดเจนในการทำการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย “สำหรับผมคำว่า low cost คงหมายถึงทำอะไรที่เราเสียเงินในกระเป๋าน้อยที่สุด แต่ได้ประโยชน์สูงสุด กลยุทธ์ของฟาร์มโชคชัยจริงๆ ไม่ได้มีอะไรมากนอกจาก ต้องเข้าใจสินค้าเราจริงๆ ว่ามีมูลค่ากับสังคมอย่างไรบ้าง อย่าเอาคำว่า “อยากที่จะทำ” คนส่วนใหญ่ ชอบพูด What to do? ก่อน How to do? แต่ผมให้ความสำคัญกับคำว่า How ที่สุด จะทำอะไรจะต้องรู้ว่าอย่างไรก่อน อะไรคือปัจจัยของเรา เช่น ทรัพยากรมนุษย์ เราเป็นคนชนิดไหน เรามีอะไรที่เป็นต่อ อะไรคือโอกาส และสิ่งสำคัญสุดเมื่อทำไปแล้ว จะสร้างธุรกิจซึ่งไม่ให้คู่แข่งตามได้ง่าย และโจทย์ทั้งหมดตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดก่อนที่เราจะทำฟาร์มโชคชัยให้เกิดกลายเป็นสินค้าที่เรียก Limited Edition ของๆ เราจะต้องเป็นของดีมีจำนวนจำกัด ลูกค้าได้มาแล้วมีความรู้สึกเป็นอภิสิทธิ์ ถ้าสามารถทำได้ก็จะไม่ไปแข่งกับใคร” โชคยังพูดถึง Umm Milk ที่เป็นสินค้า by product ที่เกิดจากธุรกิจการท่องเที่ยว เมื่อผู้มาเที่ยวมีประสบการณ์เข้าไปในฟาร์ม ได้รู้ว่าที่มาที่ไป เกิดความประทับใจ เมื่อฟาร์มโชคชัยมีโปรดักส์ออกมา ก็ไม่ต้องโฆษณามาก สินค้าฟาร์มโชคชัยทุกวันนี่จึงแฝงด้วยประสบการณ์เดิมที่ลูกค้าเคยมีมาก่อน ซึ่งสรุปความได้ว่า สิ่งเหล่านี้คือต้นทุน โลกนี้ไม่มีอะไรที่ Low Cost เพียงแต่รู้จักวิธีการที่สามารถใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ในเชิงทุนความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์มากกว่า นี่คือหลักการที่ฟาร์มโชคชัยซึ่งมองคำว่าการตลาดโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์แทนเงินในกระเป๋า ผู้บริหารหนุ่มแห่งฟาร์มโชคชัย กล่าวปิดท้ายถึงการหยุดและมองถึงต้นทุนที่เป็นสิ่งที่เป็นต่อ ถ้าทุกๆ คนทำตามกระแส การแข่งขันก็จะสูง โชคมองว่าตามกระแสคือล้าหลัง SMEs จะต้องเป็นผู้นำเทรนในธุรกิจของตัวเองให้ได้ และสิ่งสำคัญคือนำความร่วมสมัยเข้ามาใส่ในธุรกิจเดิม อย่างเช่น ผลลัพธ์ของฟาร์มโชคชัย ซึ่งจริงๆ คือธุรกิจเกษตร แต่วันนี้คนมองเป็นนวัตกรรมทางด้านการตลาด ด้าน ทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวีไดเร็ก จำกัด ผู้นำเสนอการตลาดแบบตรงด้วยสินค้าที่ต่อรองไม่ได้ บังคับซื้อใน 30 นาที ก็ขยายความธุรกิจขายของทางทีวีให้ฟัง ถอยกลับไปดูว่าท่านมีอะไร แล้วถึงจะมองไปข้างหน้า “ในความเป็นจริงการทำทีวีช้อปปิ้งในเมืองไทยไม่มีกำไร แต่เราไมได้มีช่องทางการจัดจำหน่ายเพียงช่องทางเดียว เรามีหลายช่องทาง ทีวีเป็นตัวจุดชนวนในการที่จะสร้างอะไรบางอย่างออกมา อย่างที่เราคุยกันว่าจะสร้างกลุ่มลูกค้าใหม่ต้องทำอย่างไร สินค้าของเราก็ไม่ได้วิเศษกว่าสินค้าที่ขายในห้างค้าปลีก วิธีของเราคือ ถ้าหาทางออกไม่เจอ กลับไปดูว่าวิธีเดิมพูดใหม่ได้มั้ย สินค้าเดิมนำเสนอวิธีใหม่ได้มั้ย เราเป็นคนไทยถ้านำเสนอในแบบวิชาการหลับหมด ต้องนำเสนอแบบสนุก เอนเตอร์เทนเล็กๆ ประเด็นสำคัญอยุ่ตรง 20 วินาทีสุดท้าย ต้องก่อให้เกิดการกระทำ ต้องสร้างให้รู้สึกคุ้มค่าในการที่จะโทรมา” ส่วน สมชาติ ลีลาไกรสร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและส่งเสริมธุรกิจลูกค้าผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงการ K-SME Care ผู้มอง SMEs ในฐานะรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจประเทศได้กล่าวถึงจุดอ่อนของ SME “SMEs ส่วนใหญ่เวลาทำการตลาด มักเริ่มต้นจากสินค้าว่ามีอะไร จะไปขายใคร แต่ไม่ได้ทำเพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า วันนี้ SMEs ยอมรับแล้วว่ามีต้นทุนสูง ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย สต๊อกสินค้า ค่าบริหารจัดการ ออเดอร์ไม่มากพอ ของเสียเยอะ เรามีวิธีทำอะไร ใช้งบการตลาดน้อยๆ แล้วได้ลูกค้าเยอะ” “ผู้ประกอบการต้องถามตัวเองให้ชัดเจนว่า เรากำลังขายสินค้าหรือบริการให้ใคร แล้วเพื่อตอบสนองลูกค้าอะไร SME ไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงๆ ในการประกอบธุรกิจ และมักทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องหันมามองตัวเองว่าจะสร้างบุคลากรอย่างไร ซึ่งอยากฝากไว้ 3 อย่าง การดูแลกิจการ การรักษาต้นทุน และพยายามอย่าเป็นซูเปอร์แมนทุกๆเรื่อง พยายามใช้เวลาส่วนใหญ่ทำในสิ่งที่เพิ่มมูลค่ากับองค์กร สิ่งที่สร้างมูลค่าน้อยให้คนอื่นทำ แล้วไปหาโอกาสข้างนอก” และวิทยากรคนสุดท้าย เบญจพร กำเพ็ชร ตรีคันธา ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มลูกค้า SMEs บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงตัวช่วยในการทำตลาดให้ประหยัด “พอเราพูดถึง Low Cost ทุกคนจะมองว่าตัดทุกอย่าง องค์กรใหญ่ๆ ก็รัดเข็มขัด การที่เราจะผันทรัพยากรที่มีอยู่ ใช้ตัวช่วยเข้าเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน SMEs มองเป็นเรื่องไกลตัว แต่วันนี้เทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องไกลตัว ต้นทุนในการทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้า ด้วยสื่อเรียลไทม์ในมือ มือถือตัวเดียวทำทุกอย่างเป็นสมาร์ทออฟฟิศ ส่งข่าวสารโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการทำโบรชัวร์ในอดีต เบญจพรมองว่าการทำตลาดแบบ Low Cost เป็นเรื่องของการจัดการมากกว่า SMEs ต้องเป็น Smart SMEs เราอาจมีต้นทุนเท่ากัน แต่จัดการอย่างไรให้สมาร์ท จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาอย่างไร“