หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของมหาวิทยาลัยพะเยา คือ การพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะและทักษะแห่งอนาคต ซึ่งสาขาวิชาทางด้านระบบขนส่งทางรางถือได้ว่าเป็นสาขาหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่มหาวิทยาลัยตั้งอยู่ จากการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบขนส่งทางรางของภาครัฐ เป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณสูงมากและใช้กำลังคนที่มีองค์ความรู้เฉพาะทางเป็นจำนวนมาก พร้อมกับสถานการณ์ปัจจุบันในการเกิดขึ้นของโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มหาวิทยาลัยพะเยาจึงจำเป็นต้องจัดเตรียมองค์ความรู้และการพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงทาง ด้านระบบราง เพื่อรองรับต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศและรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิตสาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบราง (Railway Engineering and Technology) ที่มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ของบัณฑิตที่เป็นกำลังคนที่มาปฏิบัติงานในภาคสนามของโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ผ่านกระบวนการทางการศึกษา วิจัย และพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของระบบขนส่งทางราง ตั้งแต่กระบวนการวิเคราะห์ การออกแบบ การก่อสร้าง การปฏิบัติการ และการซ่อมบำรุง ซึ่งจะช่วยส่งผลให้เกิดบุคลากรที่มีศักยภาพสูงและมีองค์ความรู้เชิงลึกในด้านระบบราง ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับที่เหมาะสมต่อไป
หลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบราง มุ่งหมายกับการผลิตบัณฑิตสมรรถนะสูงที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง โดยเฉพาะบุคลากรจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ร่วมดำเนินงานด้านระบบรางในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ซึ่งประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กลุ่มบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนราชการในพื้นที่ กลุ่มหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ภายใต้กรอบนโยบายของธัชวิทย์ หรือ วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Science : TAS) ที่เป็นโครงการภายใต้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรบัณฑิตวิทย์สมรรถนะสูงที่พัฒนาจากความร่วมมือของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน (Future Graduate Platform) โดยใช้ Non-conventional Future Graduate Platform เพื่อผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และเจตคติด้านบวก (Brain power) โดยมีการพัฒนาหลักสูตรร่วมกันระหว่างสถาบันวิจัยหรือภาคเอกชน (Demand side) และมหาวิทยาลัย ในรูปแบบ Demand-driven platform เพื่อจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและเอก) ร่วมกันเพื่อผลิตหลักสูตรภายใต้ TAS Educational Sandbox โดยหัวข้อวิจัยต้องมาจากสถาบันวิจัยหรือเอกชน โดยรูปแบบการจัดการเรียนการสอนจะเป็นแบบ Co-curriculum, Co-teaching, และ Co-certificate โดย บพค. เป็นตัวกลางคอยประสานและให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ ในสาขาที่รองรับการเติบโตและโอกาสทางอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ของประเทศไทย และนักศึกษาสามารถทำวิจัยโดยมี National facility มาตรฐานระดับสากล รวมถึงการเข้าไปฝังตัวทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยในสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก "บัณฑิตธัชวิทย์" สำเร็จการศึกษาโดยมี Degree certificate และเข้าทำงานในสถาบันวิจัยและภาคเอกชน ซึ่งธัชวิทย์จะเป็นอีกแพลตฟอร์มหนึ่งในการสร้างและพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง พร้อมขับเคลื่อนเทคโนโลยี นวัตกรรมขั้นแนวหน้าในการพลิกโฉมสังคมและเศรษฐกิจไทยให้หลุดพ้นจากกับดักความเป็นประเทศรายได้ปานกลาง สู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580
มหาวิทยาลัยพะเยาได้เริ่มต้นพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบรางขึ้น โดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือข่ายที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จำนวน 35 แห่งทั่วประเทศที่เป็นภาคีเครือข่ายระบบขนส่งทางรางที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบราง ร่วมกับสถาบันวิจัยหลักของประเทศ รวมถึงภาครัฐและเอกชนที่กำลังดำเนินงานด้านระบบรางในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในการจัดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบรางร่วมกัน โดยที่มหาวิทยาลัยพะเยาได้พัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันวิจัยหลักของประเทศซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านระบบราง ประกอบด้วย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีระบบรางและการขนส่งสมัยใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.) ซึ่งจะให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผู้เรียน และร่วมกันกำหนดหัวข้อวิทยานิพนธ์หรือโจทย์วิจัย ทั้งยังให้ความร่วมมือในการใช้ห้องปฏิบัติการและทดสอบงานทางด้านระบบรางอีกด้วย นอกจากนี้หลักสูตรฯ ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในทปอ.ที่เป็นภาคีเครือข่ายระบบขนส่งทางราง ซึ่งจะให้การสนับสนุนบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านระบบรางในการร่วมเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์วิจัยต่าง ๆ รวมถึงการส่งผู้เรียนเข้าไปฝังตัวทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยในสถาบันวิจัยชั้นนำของโลกที่มีความร่วมมือกับหลักสูตรฯ นอกจากนี้หลักสูตรฯยังได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใช้บัณฑิตซึ่งเป็นภาครัฐและเอกชนที่ร่วมอยู่ในโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ประกอบด้วย การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา กลุ่มบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้าง ส่วนราชการในพื้นที่ กลุ่มหอการค้าและสภาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ที่จะต้องส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อีกทั้งยังร่วมสนับสนุนอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการต่าง ๆ ในงานวิจัยด้วยเช่นกัน
ในช่วงที่ผ่านมามหาวิทยาลัยพะเยาได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ "การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบรางเพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง" ร่วมกับกรมการขนส่งทางรางและภาคีเครือข่ายในการสนับสนุนส่งเสริมและใช้ทรัพยากรร่วมกันเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านระบบราง ซึ่งประกอบด้วย (1) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (2) สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (3) หน่วยงานวิชาชีพและหน่วยงานวิจัยและรับรองด้านระบบราง (4) สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอุดมศึกษาภาครัฐและเอกชน (5) สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรด้านระบบรางระดับอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชน และ (6) ผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางภาครัฐและเอกชน และในอนาคตมหาวิทยาลัยกำลังจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทยในการร่วมกันผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง รวมถึงการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบราง และการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญในการมาสนับสนุนการควบคุมวิทยานิพนธ์ของนิสิตเป็นหนึ่งในกิจกรรมในบันทึกข้อตกลง
ในปีการศึกษา 2567 มหาวิทยาลัยพะเยาได้รับการจัดสรรทุนจาก บพค. ในการดำเนินโครงการ "การพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบรางเพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภูมิภาคของประเทศไทยภายใต้โปรแกรมธัชวิทย์ (Human capital development in railway engineering and technology for regional rail transport development in Thailand under Thailand Academy of Science (TAS) program)" สำหรับผลิตบัณฑิตในหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบราง จำนวนทั้งสิ้น ๖ ทุนการศึกษา ซึ่งครอบคลุมผู้เรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ โดยได้รับการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๐.๕ ล้านบาท ครอบคลุมระยะเวลา ๔ ปีในการดำเนินการ ซึ่งผลจากนโยบายของรัฐบาลในการกระจายรายได้สู่ภูมิภาคด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจากการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของนั้นจะเป็นการช่วยสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรและภาคบริการของจังหวัดพะเยาและภาคเหนือตอนบนให้เกิดความคล่องตัว และส่งผลให้จังหวัดพะเยาสามารถพัฒนาเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ทางรางของภาคเหนือตอนบนได้ในอนาคต ทั้งนี้โปรแกรมธัชวิทย์เป็นโปรแกรมภายใต้ บพค. สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งเน้นการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีทักษะหรือความเชี่ยวชาญเฉพาะทางผ่านหลักสูตรที่ออกแบบตามความต้องการของผู้ใช้บัณฑิตโดยตรง ดั้งนั้นหลักสูตรวิศวกรรมและเทคโนโลยีระบบรางภายใต้โปรแกรมธัชวิทย์นี้จะช่วยสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านระบบขนส่งทางรางชั้นสูงขึ้นในจังหวัดพะเยาและพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยได้อย่างมีศักยภาพ