กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการผลักดันเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชเป็นโมเดลต้นแบบ "ราชทัณฑ์ดีพร้อม" เพื่อฝึกทักษะอาชีพให้กับผู้ก้าวพลาดผ่านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต การสร้างตราสินค้า และการบริหารจัดการด้านการตลาดออนไลน์ ดึงทักษะของแรงงานที่มีฝีมือที่ถูกสร้างไว้หลังกำแพงเรือนจำ สร้างอาชีพเส้นทางใหม่ เตรียมความพร้อมคืนคนดีสู่สังคมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและโอกาสในการสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ และลดการกลับมาทำความผิดซ้ำ ส่งผลให้สังคมปลอดภัยมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นการอนุรักษ์ทักษะงานหัตถศิลป์อันเลอค่าของจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อต่อยอดไปยังพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทย มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างโอกาสและเสริมสร้างรากฐานทางอุตสาหกรรมให้แข็งแรงขึ้น และเป็นการขานรับนโยบายในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สร้างสังคมแรงงานที่มีความสามารถ โดยมุ่งเน้นการฝึกอบรมและการพัฒนาทักษะเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการคืนคนดีสู่สังคม นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับผู้ก้าวพลาดเพื่อให้ได้ฝึกทักษะอาชีพเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษที่มีความสามารถตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจในอนาคต ดังนั้น กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้กำหนดนโยบาย "RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต" ในกลยุทธ์การพัฒนาเชิงพื้นที่ (RESHAPE the Area) มาประยุกต์ใช้ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้กับสินค้าและบริการในการอนุรักษ์ทักษะงานหัตถศิลป์อันเลอค่าของไทย ด้วยการดึงทักษะของแรงงานที่มีฝีมือที่ถูกสร้างไว้หลังกำแพงเรือนจำ สร้างอาชีพเส้นทางใหม่ เตรียมความพร้อมคืนคนดีสู่สังคมด้วยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ในการผนึกกำลังกับ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ผลักดันเรือนจำกลางนครศรีธรรมราชเป็นโมเดลต้นแบบ "ราชทัณฑ์ดีพร้อม" เพื่อฝึกทักษะอาชีพให้กับผู้ก้าวพลาดผ่านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต การสร้างตราสินค้า และการบริหารจัดการด้านการตลาดออนไลน์
นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้น ภายใต้โครงการฝึกทักษะอาชีพคืนคนดีสู่สังคม "นิคมราชทัณฑ์โมเดล" เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแบ่งกลุ่มฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และแบ่งกลุ่มฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ณ เรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2567 ประกอบด้วย 4 หลักสูตร ได้แก่ 1) การจักสานกระเป๋าจากย่านลิเภา 2) การสร้างกี่กระตุกจำนวน 10 หลัง 3) การทอผ้าขั้นพื้นฐาน และ 4) การตัดเย็บเสื้อผ้าด้วยจักรอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ยังได้ให้ความอนุเคราะห์สนับสนุนเครื่องจักร เพื่อใช้ในการฝึกทักษะอาชีพ หลักสูตร "การเย็บจักรอุตสาหกรรม" (ขั้นพื้นฐาน) และได้สนับสนุนต้นแบบจักรอุตสาหกรรม ให้กับเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช จำนวน 16 หลัง ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะและการฝึกปฏิบัติในอาชีพที่สามารถใช้ได้จริงภายในสังคม สร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ก้าวพลาดที่สนใจในการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการปล่อยตัวในอนาคต ให้สามารถปรับตัวและมีชีวิตใหม่ในสังคมได้ อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์หัตถศิลป์ที่มีค่าของจังหวัดนครศรีธรรมราช และเป็นการสร้างโมเดลต้นแบบเพื่อต่อยอดไปยังพื้นที่อื่น ๆ และคาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 3 ล้านบาท
พันตำรวจโท เชน กาญจนาปัจจ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ก้าวพลาดจะมีโอกาสได้ฝึกทักษะอาชีพเตรียมความพร้อมก่อนพ้นโทษ พร้อมคืนคนดีสู่สังคม นำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ และสามารถนำไปสู่การสนับสนุนการเชื่อมโยงการผลิตสินค้า การรับช่วงการผลิต การเชื่อมโยงตลาดกระจายสินค้า และการส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับผลิตภัณฑ์จากราชทัณฑ์ รวมถึงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และตราสินค้า อีกทั้ง สามารถเชื่อมั่นได้ว่าโครงการนี้จะเป็นอีกหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อเตรียมความพร้อมสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบพื้นถิ่นตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนพึ่งพาตนเอง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และนำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป พันตำรวจโท เชน กาญจนาปัจจ์ กล่าวทิ้งท้าย