ไทยพีบีเอส ร่วมฝ่าวิกฤตน้ำท่วม เกาะติดสถานการณ์ต่อเนื่อง พร้อมส่งความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบภัย

ข่าวทั่วไป Tuesday September 24, 2024 16:36 —ThaiPR.net

ไทยพีบีเอส ร่วมฝ่าวิกฤตน้ำท่วม เกาะติดสถานการณ์ต่อเนื่อง พร้อมส่งความช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาผู้ประสบภัย

ไทยพีบีเอส ระดมทีมงานพิเศษ กว่าร้อยชีวิต ลงพื้นที่ ปักหลักร่วมฝ่าวิกฤต เพิ่มสัดส่วนเนื้อหาข่าวเกาะติดสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านทุกช่วงรายการข่าว พร้อมเร่งส่งความช่วยเหลือ ช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย ถอดบทเรียนการรับมือภัยพิบัติ

ข่าวไทยพีบีเอส เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมทุกพื้นที่

จากวิกฤตน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส  ได้มีการระดมทีมงานในทุกภาคส่วน เพื่อลงพื้นที่ประสบภัย เกาะติดเหตุการณ์ พร้อมนำเสนอข่าวสารและให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครอบคลุมในทุกด้านของการรายงานข่าวภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง  โดยทีมข่าวของไทยพีบีเอสได้เข้าประจำในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ครอบคลุมการรายงานตั้งแต่มีสถานการณ์น้ำท่วม 20 จุด เพื่อจับตาสถานการณ์น้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งในส่วนของระดับน้ำ พื้นที่เสี่ยง และการเข้าถึงของหน่วยงานช่วยเหลือ  รวมถึงการแจ้งประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างทันท่วงที เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างเหมาะสม  ผ่านทุกช่วงรายการข่าวของไทยพีบีเอส ทุกโซเชียลมีเดีย และแอปพลิเคชันไทยพีบีเอส 

พร้อมเปิดพื้นที่ C-Site แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถส่งข้อมูล ภาพถ่าย และคลิปวิดีโอจากพื้นที่ประสบภัยได้โดยตรง โดยได้มีการปรับให้เป็นช่องทางสื่อสารและจับคู่ความช่วยเหลือ (Matching) ในชื่อ "SoS ปักหมุดรายงานสถานการณ์แจ้งความเดือดร้อน จุดช่วยเหลือ" เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมปักหมุดรายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งมีเครือข่ายสื่อสาธารณะท้องถิ่น รวมสื่อสารปักหมุดมากกว่า 330 หมุดข่าว โดยเริ่มเปิดให้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 10 ก.ย. 67 กรณีของภาคเหนือ โดยเฉพาะใน 2 พื้นที่หลัก คือ บริเวณอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และ บริเวณตัวเมืองเชียงราย ซึ่งมีรายงานขอความช่วยเหลือเข้ามาเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ขาดน้ำอาหาร มีผู้สูงอายุ คนป่วยต้องออกจากพื้นที่ จนไปถึงเรื่องของการฟื้นฟู ทั้งนี้มีประสานกับทีมอาสาสมัครในพื้นที่ เพื่อช่วยกันติดตามหมุดที่ขอความช่วยเหลือ ส่งต่อและช่วยเหลือจนเสร็จสิ้น ได้กว่าร้อยละ 20 ของหมุดทั้งหมด

มูลนิธิไทยพีบีเอส เร่งประสานความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

นอกจากการรายงานข่าวแล้ว ยังมีการทำงานร่วมกันระหว่าง มูลนิธิไทยพีบีเอส สมาพันธ์พนักงานไทยพีบีเอส มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ) และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเปิดพื้นที่ประสานความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก พร้อมทั้งให้การสนับสนุนในด้านอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค และสิ่งของจำเป็นต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยได้มีการส่งความช่วยเหลือ ส่งมอบถุงยังชีพให้ผู้ประสบภัยในแก่พื้นที่ไปแล้วกว่าหนึ่งหมื่นชุด ในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายครอบคลุมกว่า 10 จังหวัด ในภาคเหนือ และภาคอีสาน

เร่งฟื้นฟูพื้นที่ กับสถานีประชาชน และอนาคตประเทศไทย

ทั้งนี้ ไทยพีบีเอส ยังเกาะติดภารกิจการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย โดยนำเสนอความคืบหน้าในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย การฟื้นฟูถนนและโครงสร้างพื้นฐาน การช่วยเหลือด้านการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เช่น การซ่อมแซมคันนา การช่วยเหลือเกษตรกรให้กลับมาผลิตได้อีกครั้ง รวมถึงการเยียวยาทางจิตใจให้กับผู้ประสบภัยที่ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาหลังน้ำลด เพื่อให้ผู้ประสบภัยสามารถกลับมามีชีวิตปกติได้โดยเร็ว โดยมีรายการ "สถานีประชาชน" เป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นศูนย์กลางการรายงานปัญหาจากพื้นที่ เพื่อให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟู เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ขณะที่รายการ "อนาคตประเทศไทย" จะนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟูในระยะยาว รวมถึงการวางแผนเชิงระบบเพื่อป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต

ไม่ปล่อยให้ "น้ำท่วมครั้งนี้" เป็นเพียงประสบการณ์

เพราะวิกฤตน้ำท่วม มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ไทยพีบีเอส จึงไม่อยากให้ "น้ำท่วมครั้งนี้" เป็นเพียงเหตุการณ์ที่ผ่านไป หากแต่เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องถูกถอดและนำไปใช้ในการพัฒนาการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงได้มีการนำเสนอข้อมูลเชิงลึกที่ช่วยให้ทุกภาคส่วนสามารถถอดบทเรียนจากวิกฤตในครั้งนี้ ทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการน้ำ การจัดสรรทรัพยากร และการวางแผนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการสะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของการจัดการปัญหา การวางแผนป้องกันล่วงหน้า ระบบการแจ้งเตือนภัย และการจัดสรรทรัพยากรที่ยังไม่เพียงพอ รวมถึงความจำเป็นในการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการน้ำในระยะยาว

ไทยพีบีเอส มุ่งหวังที่จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับสังคม สามารถสร้างระบบการจัดการที่ยั่งยืนและรองรับภัยพิบัติอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต   ไทยพีบีเอสจะยังคงเกาะติดทุกสถานการณ์ และพร้อมที่จะอยู่เคียงข้างคนไทย เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวข้ามในทุกวิกฤตได้ 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ