"ข่าวปลอม" ภายใต้สถานการณ์โควิด 19 พบว่ามีการแพร่กระจาย หรือแชร์ไปในวงกว้างกันอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันการไหลผ่านของข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็ว และยากต่อการควบคุม ข่าวสารถูกผลิต และข้อมูลถูกนำเสนอโดยบุคคลใดก็ได้อย่างอิสระที่สามารถเข้าถึงช่องทางออนไลน์ จึงทำให้ข่าวสารกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ก่อให้เกิดผลกระทบในหลายมิติตามมา โดยเฉพาะข่าวที่เกี่ยวข้องกับโรคและวัคซีนป้องกันโรค โควิด 19 ซึ่งหากมีการส่งต่อข้อมูลไป ก็จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อที่ผิด ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข การเสียโอกาสในการรับการรักษาและป้องกันอย่างถูกต้อง รวมถึงคุณภาพชีวิตโดยรวมของคนในประเทศ โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเสี่ยง หากคนกลุ่มนี้เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ก็จะนำไปสู่อาการที่รุนแรงและก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยจากรายงานกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถึงสถานการณ์โรคโควิด 19 รายสัปดาห์ ยังคงพบจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะผู้สูงอายุป่วยหนักเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน1 และถึงแม้ว่าภาระโรคในปัจจุบันยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาเชิงระบบการรักษาพยาบาล แต่ด้วยสถานการณ์ของโรคที่ไม่แน่นอนจากวิวัฒนาการของเชื้อไวรัส จึงส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่ม 608 และยังพบว่าผลกระทบจากโรคโควิด 19 มีความรุนแรงกว่าโรคไข้หวัดใหญ่
โดยกลุ่มตัวแทนชมรมกลุ่มโรคเรื้อรัง และประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้เล็งเห็นความสำคัญ และความเร่งด่วน ในเรื่องการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันทั้งต่อการรับรู้ข่าวสุขภาพ และการป้องกันโรคโควิด 19 โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นายกองตรี ดร.ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้พิจารณาข้อเรียกร้องสำคัญ ได้แก่
ตัวแทนประชาชนในกลุ่มเสี่ยง นางสาวไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้ง อาร์ต ฟอร์ แคนเซอร์ บาย ไอรีล กล่าวว่า "ในช่วงหลายปีของการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 นับเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างยากลำบากของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าคนปกติ และมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแทรกซ้อนต่าง ๆ รวมถึงเชื้อ โควิด 19 โดยส่วนมากพบกับปัญหาถูกเลื่อนการผ่าตัด หรือแพทย์ทำการเปลี่ยนแผนการรักษา รวมถึงการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ซึ่งสิ่งที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา คือ อยากให้กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งจัดระบบการให้บริการทางการแพทย์ หรือวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ให้เพียงพอต่อความต้องการและเป็นไปอย่างมีคุณภาพ ให้ครอบคลุมในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ประชาชนในกลุ่มเสี่ยง และในกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบาง เป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิค 19 มากที่สุด สำหรับอีกเรื่อง คือ การสื่อสาร และให้ความรู้ในเรื่องของโรคโควิด 19 อย่างถูกต้อง ชัดเจน ในหลาย ๆ ช่องทาง เพื่อให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยต้องเป็นข้อมูลที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ เนื่องจากปัจจุบัน ข้อมูลเท็จ หรือ ข่าวปลอม มีแพร่กระจายให้เห็นมากมายบนโลกสังคมออนไลน์ โดยมีเจตนาเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน และบิดเบือน ซึ่งส่งผลกระทบทั้งต่อระบบสาธารณสุข และการรักษา การดูแลตนเองของผู้ป่วยได้"
ด้าน นางศุภลักษณ์ จตุเทวประสิทธิ์ ประธานชมรมเบาหวาน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อีกหนึ่งเสียงจากตัวแทนชมรมกลุ่มโรคเรื้อรัง เปิดเผยว่า "ผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงระดับต้น ๆ ของภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรคโควิด 19 จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้เฉียบพลัน เกิดภาวะขาดน้ำ ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอัตราการเสียชีวิตที่มากขึ้น ผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนโควิด 19 อย่างเร่งด่วน นอกจากนี้ผู้ป่วยควรทราบวิธีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมและถูกต้อง แต่ด้วยปัจจุบันมีช่องทางมากมายให้เราได้สื่อสาร ข้อมูลมีมากขึ้นไหลผ่านกันรวดเร็ว ทั้งที่เป็นประโยชน์ และยังมีเนื้อหาที่เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนตัว เนื้อหาที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด ข้อมูลไม่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นข้อมูลเท็จที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสังคม และบุคคลในวงกว้าง โดยเฉพาะข่าว หรือข้อมูลที่เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ซึ่งหากไม่ถูกต้อง อาจส่งผลเสียต่อการรักษา และชีวิตของผู้ป่วยได้ สำหรับข้อเสนอที่อยากให้กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ คือ การจัดการนำเสนอข่าวสารอย่างมีระบบ มีหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเป็นผู้กระจายข่าว รวมถึงให้ความสำคัญของการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่ม 608 และประชาชนกลุ่มเสี่ยง"