บพข. ร่วมเวทีเสวนา ท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในงาน TRIUP Fair 2024

ข่าวทั่วไป Friday September 27, 2024 16:22 —ThaiPR.net

บพข. ร่วมเวทีเสวนา ท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในงาน TRIUP Fair 2024

แผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เข้าร่วมเสวนา TRIUP Talk ท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน มีความเข้าใจและมีความพร้อมในการปรับตัวนำเสนอการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวในยุคปัจจุบันและอนาคต รวมถึงสนับสนุนให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดการท่องเที่ยวโลกอย่างยั่งยืน ในงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม 2567 (TRIUP FAIR 2024) ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน

ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเตรียมออกกฎหมายคาร์บอนเครดิตภาคบังคับ ในขณะเดียวกันทางด้านยุโรปออกกฎหมายที่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว มีข้อกำหนดสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ทั้งหมดในสหภาพยุโรป จะต้องมีรายงาน ESG โดย EU Green Claim Directive อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการรายงานผลการทำงานร่วมกับซัพพลายเชน (Supply Chain) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้หรือไม่ และแผนการดำเนินงานในอนาคตจะนำธุรกิจไปสู่การจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (Green Supply Chain) ได้อย่างไร และในอีก 2 ปีข้างหน้าจะขยายข้อกำหนดให้ครอบคลุมธุรกิจทุกขนาด

ในด้านการตลาด หากประเทศไหนไม่ทำเรื่องการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต ตลาดยุโรป จะกังวลในการส่งนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นทุกประเทศเริ่มเตรียมความพร้อมเข้าสู่การท่องเที่ยวแนวใหม่ แสดงให้เห็นความตั้งใจและมีแผนการดำเนินงานให้เห็นชัดเจน สอดคล้องกับกฎหมาย EU Green Claim Directive เพื่อดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งมีความต้องการด้านบริการสินค้าและมาตรฐานที่สูงขึ้น และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ESG แสดงให้เห็นว่าตลาดโลกกำลังก้าวไปสู่คุณภาพที่เน้นความยั่งยืน ESG และการท่องเที่ยวไทยจะไม่ก้าวไปได้อย่างไร

ทั้งนี้ ดร.วีระศักดิ์ ได้เสนอแนะองค์ประกอบการดำเนินการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ให้ประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต ดังนี้ 1) ออกแบบวิธีการวัดและเครื่องมือชี้วัด 2) รัฐบาลต้องออกกฎระเบียบ 3) การทำการเงินสีเขียว (Green Finance) และ 4) การเชื่อมโยงขนส่งนักท่องเที่ยวทางรางและทางเรือ

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานคณะอนุกรรมการแผนงานการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนองค์ความรู้ทางการวิจัย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ผ่านการบริหารจัดการของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) เริ่มจากการพัฒนาเครื่องมือ PCR บริการท่องเที่ยวผ่านการกรอกข้อมูลบนโปรแกรม Excel ต่อมาได้พัฒนาเป็นZero Carbon Application ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อให้ผู้ประกอบการเกิดความสะดวกสบายต่อการใช้งาน อีกทั้งโปรแกรมนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 50,000 บาท ต่อ แพ็กเกจ/โปรแกรม/เส้นทาง โดยมี สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) พัฒนา 183 แพ็กเกจ/โปรแกรม/เส้นทาง ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสามารถขายได้จริง ซึ่งทำงานร่วมกับเครือข่ายนักวิจัย 20 มหาวิทยาลัย นักวิจัยราว 200 ท่าน

ขณะนี้ แผนงานฯ ได้ขยับจากจุดเริ่มต้น การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ไปสู่ Net Zero Tourism ร่วมกับเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานทางการท่องเที่ยว 4 กระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา / กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม / กระทรวงการต่างประเทศ จาก 14 หน่วยงาน ได้แก่ สกสว. / บพข. / ททท. / อพท. / สสปน. / อบก. / หอการค้าไทย / TEATA / กรมการท่องเที่ยว / กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ / กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม / ATTA / THA / TICA ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ความร่วมมือเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวที่มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ทั้งนี้ในการเข้าสู่ Net Zero Tourism การดำเนินงานในปี 2567 จะต้องมีการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในระดับองค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) ในภาคโรงแรมและธุรกิจขนาดเล็กประมาณ 10 ราย นอกจากนี้ยังได้จัดทำ Road Map แผนการดำเนินงานปี 2568 - 2570 เพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยว Net Zero โดยในปี 2568 จะเป็นการจัดทำ CFO แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถประกาศเจตนารมณ์ในการเป็น Net Zero Destination ถัดมาในปี 2569 จัดทำ Action Plan และกำหนดเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สุดท้ายในปี 2570 จัดทำรายงานประจำปีเพื่อขอรับการรับรอง Net Zero Pathway จาก อบก. ทั้งนี้ในฐานะภาคการท่องเที่ยวและภาควิชาการ พยายามที่จะศึกษากระบวนการและระเบียบวิธีการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์จากป่าชายเลน ปะการัง และสาหร่าย ซึ่งทาง อบก. ได้ทำในภาคป่าไม้ หรือที่เรียกกันว่า T-VER แล้ว โดยทั้งหมดนี้จะเป็นเป้าสำคัญที่จะกำลังเดินหน้าต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ประเทศไทยและโลกของเราเกิดการบริหารจัดการที่สมดุล ให้การท่องเที่ยวสามารถสร้างคุณค่าและคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนต่อไป

คุณธเนศ วรศรัณย์ ประธานคณะกรรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาคเอกชน ในฐานะหอการค้า โดยมีผู้ประกอบการประมาณ 150,000 ราย นำงานวิจัยแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. ไปใช้ประโยชน์ และช่วยกันกระจายข่าว เพื่อขยายผลทั้งในด้านของการทำธุรกิจและการทำตลาด ซึ่งทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ผ่านแนวคิด "โมเดลอารมณ์ดี มีความสุข Happy Model" กินดี อยู่ดี ออกกำลังกายดี และแบ่งปันสิ่งดีๆ เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาสินค้าและบริการด้านท่องเที่ยวแต่ละพื้นที่ ยกระดับการท่องเที่ยวของไทยไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูง ปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวได้ถูกปรับใช้ในหลายจังหวัด เช่น มหาสารคาม, ขอนแก่น, พะเยา, สงขลา, ฉะเชิงเทรา, ลำปาง, กาญจนบุรี, ชุมพร (ชวนเที่ยวบ้านฉัน) ร่วมกับ TAG Thai นอกจากนี้ยังมีการทำโครงการ Hug Earth มาตรฐานสำหรับผู้ประกอบการโรงแรมที่มุ่งเน้นไปสู่การรักษ์โลก ในระยะที่ 1 มี โรงแรมที่ผ่านเกณฑ์การประเมินโครงการ Hug Earth จำนวน 52 โรงแรม และปีนี้คาดว่าจะขยายผลจำนวน 500 โรงแรม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการหลายรายมีความตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

หากภาคผู้ประกอบการสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ในแรกเริ่มไม่จำเป็นต้องทำอย่างสุดโต่ง แต่ค่อย ๆ เรียนรู้และฝึกฝนให้เห็นผลลัพธ์การลดต้นทุนของธุรกิจไปทีละระดับ ทั้งนี้แผนในอนาคต ภาคผู้ประกอบการควรเน้นไปที่การใช้โซล่าเซลล์ และผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องอาศัยภาครัฐบาลเข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานและงบประมาณต่อไป คุณธเนศกล่าวทิ้งท้าย

คุณปาริชาต สุนทรรักษ์ อุปนายกสมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) เปิดเผยว่า ในช่วงแรกของการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ยังไม่เป็นที่ยอมรับ เนื่องจากเข้าไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวให้มีความรักษ์โลกมากจนเกินไปทำให้การท่องเที่ยวนั้นไม่สนุก ดังนั้น TEATA จึงได้วางแผนปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานในคอนเซปต์ สนุกเต็มที่ ดีต่อโลก หมายถึง การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ที่ยังสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับนักท่องเที่ยวและคงความสนุกไว้เหมือนเดิม โดยเริ่มจากผู้ประกอบการต้องมีความรู้และความเข้าใจของการใช้เครื่องมือการวัด ลด และชดเชย จาก 4 แหล่งปล่อย (ที่พัก,การเดินทาง, อาหารและเครื่องดื่ม) โดย TEATA สามารถจัดโปรแกรมฝึกอบรม เปรียบเสมือนเป็นพี่เลี้ยงช่วยสอนและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งการดำเนินงานคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์สามารถทำได้ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และเมือง นอกจากนี้ TEATA ยังได้วางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดร่วมกับองค์กรทุกภาคส่วน ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ทั้งหน่วยงานในไทยและหน่วยงานระดับโลก เพื่อขยายผลการดำเนินงานและสื่อสารการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ไปตลาดนานาชาติ

คุณปาริชาต ได้กล่าวเสริมว่า TEATA ยังต้องการขยายฐาน Green the Mass ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยการสนับสนุนการพัฒนากิจกรรมและแพ็คเกจท่องเที่ยวลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวคุณภาพได้รับประสบการณ์อย่างแท้จริง

การท่องเที่ยวแนวใหม่คาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์นั้นส่งผลกระทบต่อทุกคน ไม่ใช่แค่ในด้านเศรษฐกิจ แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม การท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืนอาจทำลายทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เราหวงแหน การเข้าใจและสนับสนุนการท่องเที่ยวแนวใหม่จะช่วยให้คุณเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความสวยงามและคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่น และความเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไว้เพื่ออนาคตให้คงอยู่ต่อไป พร้อมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยวและอยากมาเยือนซ้ำ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ