กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--ทริสเรทติ้ง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มูลค่า 15,000 ล้านบาทและ 5,000 ล้านบาทที่ระดับ “A+” ในขณะเดียวกันยังประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารที่ระดับ “A+” และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิ (BAY13NA) ที่ระดับ “A” เท่าเดิม ด้วยแนวโน้ม “Positive” หรือ “บวก” อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงรูปแบบธุรกิจของธนาคารที่มีศักยภาพในการแข่งขันที่ดีขึ้น ฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง มูลค่าทางธุรกิจ (Franchise Value) ด้านสินเชื่อรายย่อยที่เพิ่มขึ้น และระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งหมดเป็นปัจจัยเสริมทางกลยุทธ์ที่ได้รับจากพันธมิตรทางธุรกิจต่างชาติของธนาคารคือ GE Capital Asia Pacific Ltd. (GE) โดยปัจจัยดังกล่าวน่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถพัฒนาฐานธุรกิจและสร้างผลกำไรได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่ธนาคารยังมีสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระดับสูง ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวยน้อยลงในปัจจุบันอันอาจเป็นอุปสรรคในการขยายธุรกิจและจำกัดความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร
แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะปรับปรุงฐานะทางการเงินและคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญและจะมีผลต่อความสามารถในการทำกำไร นอกจากนี้ การที่มี GE เข้ามาเป็นพันธมิตรน่าจะเอื้อประโยชน์ให้ธนาคารสามารถขยายขนาดสินทรัพย์ที่มีผลกำไรและส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อย ทั้งนี้ ระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีเพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับธนาคารในช่วงเวลาที่มีการขยายฐานสินเชื่อด้วยเช่นกัน
ทริสเรทติ้งรายงานว่า การที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีกลยุทธ์ที่จะพึ่งพาจุดแข็งของ GE ซึ่งมีความชำนาญในธุรกิจธนาคารเพื่อรายย่อยจะช่วยให้ธนาคารสามารถเติบโตได้ทั้งในแบบปกติตามลักษณะของธุรกิจ (Organic Growth) และแบบก้าวกระโดด (Inorganic Growth) โดยส่วนหนึ่งของการเติบโตแบบก้าวกระโดดนั้นธนาคารได้ซื้อหุ้นทั้งหมดของ บริษัท จีอี แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GECAL ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในประเทศไทยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ในปี 2550 ธนาคารได้ปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบปฏิบัติการโดยการลงทุนเพิ่มเครือข่ายโครงสร้างระบบสารสนเทศ การขยายสาขา และการอบรมบุคลากร นอกจากนี้ ธนาคารยังได้แก้ปัญหาสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่มีอยู่ในระดับสูงซึ่งเป็นปัจจัยลบต่ออันดับเครดิตของธนาคารโดยเร่งด่วนด้วย โดยจะเห็นได้จากการที่ธนาคารได้ลงนามในสัญญาขายสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่า 9.8 พันล้านบาทซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 14% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์และการสร้างพอร์ตสินเชื่อที่มีคุณภาพและเพิ่มผลกำไรของธนาคารนั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธุรกิจและเสถียรภาพทางการเมืองด้วย
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีฐานะเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ลำดับที่ 5 ของไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์ โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2550 ธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อที่ 8.1% และเงินฝากที่ 8.4% ผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมกราคม 2551 คือตระกูลรัตนรักษ์ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งโดยถือหุ้นในสัดส่วน 26.5% และ GE ซึ่งถือ 34.7% ของหุ้นทั้งหมด ธนาคารมีกำไรลดลงอย่างมากในปี 2550 เนื่องจากมีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเป็นจำนวนมากถึง 12.04 พันล้านบาทเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการตั้งสำรองสากล หรือ IAS39 อีกทั้งในปี 2550 ธนาคารยังขาดทุนจากการปรับโครงสร้างหนี้ ตลอดจนการมีค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงระบบข้อมูลสารสนเทศและเพิ่มศักยภาพบุคลากร และการขยายเครือข่ายสาขา ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นปี 2550 อยู่ที่ 15.5% เพิ่มขึ้นจาก 13.6% ณ สิ้นปี 2549 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่งซึ่งอยู่ที่ 8.8% ธนาคารมีอัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อจัดชั้นที่ค้างชำระเกิน 3 เดือน ยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) คิดเป็น 1.3 เท่าของเงินกองทุนและค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 1.9 เท่าเมื่อสิ้นปี 2550 เนื่องจากฐานเงินทุนของธนาคารเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มทุนจาก GE
ณ สิ้นปี 2550 ธนาคารกรุงศรีอยุธยามีฐานเงินทุนที่มั่นคงหลังจากที่ GE เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้น โดยมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มจาก 11.67% ณ สิ้นปี 2549 เป็น 20.35% ณ สิ้นปี 2550 การที่ธนาคารซื้อหุ้นทั้งหมดของ GECAL ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 จะส่งผลให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงเป็น 18% โดยจะมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 78 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การมีฐานเงินทุนขนาดใหญ่น่าจะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายฐานสินทรัพย์และแก้ปัญหาสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ได้อย่างเพียงพอในอนาคต