ต่อมบาร์โธลินอักเสบ

ข่าวทั่วไป Monday September 30, 2024 13:40 —ThaiPR.net

ต่อมบาร์โธลินอักเสบ

ต่อมบาร์โธลินอักเสบอีกหนึ่งโรคที่พบได้บ่อยในคุณผู้หญิง แน่นอนว่าหากเป็นโรคนี้เมื่อไหร่ มักจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ดังนั้นเรามาเช็กพฤติกรรมเสี่ยงและเรียนรู้วิธีป้องกันให้ห่างไกลจากโรคต่อมบาร์โธลินอักเสบกัน

 ต่อมบาร์โธลินเป็นต่อมขนาดเล็กที่อยู่บริเวณด้านข้างของช่องคลอด ทำหน้าที่ผลิตของเหลวที่ช่วยหล่อลื่นในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ หากต่อมบาร์โธลินเกิดการอุดตันหรือติดเชื้อ จะทำให้เกิดถุงน้ำหรือฝี (บาร์โธลินซีสต์) ซึ่งอาจทำให้เกิดการอักเสบและปวดอย่างรุนแรง

สาเหตุของการอักเสบ

  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น สแตฟิโลคอคคัส หรือแบคทีเรียที่เกี่ยวข้องกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในแท้ (Gonorrhea) หรือหนองในเทียม (Chlamydia)
  • การอุดตันของท่อบาร์โธลิน ทำให้ของเหลวไม่สามารถออกจากต่อมได้

อาการต่อมบาร์โธลินอักเสบ

  • ปวดบริเวณช่องคลอดหรือขาหนีบ
  • มีก้อนหรือถุงน้ำใกล้ช่องคลอด
  • บริเวณที่เป็นอาจบวม แดง และร้อน
  • อาจมีไข้และอาการเจ็บปวดเมื่อเดินหรือนั่ง

การวินิจฉัยโรค

การวินิจฉัยต่อมบาร์โธลินอักเสบมักเริ่มจากการซักประวัติและการตรวจร่างกายโดยแพทย์ โดยแพทย์จะตรวจบริเวณอวัยวะเพศภายนอกเพื่อหาการบวม แดง หรือมีฝีที่เกิดขึ้น หากแพทย์สงสัยว่ามีการติดเชื้อ อาจทำการเจาะหนองจากฝีเพื่อนำไปตรวจเพาะเชื้อ ซึ่งช่วยระบุชนิดของแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อและช่วยในการเลือกยาปฏิชีวนะที่เหมาะสม ในบางกรณี โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจชิ้นเนื้อ (biopsy) เพื่อแยกโรคอื่น ๆ เช่น มะเร็ง โดยเฉพาะหากพบว่ามีการเกิดก้อนที่มีลักษณะผิดปกติ

การรักษา

  • การใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่มีการติดเชื้อ
  • การเจาะถุงน้ำเพื่อระบายของเหลวออก
  • ในกรณีที่อาการรุนแรงมากอาจต้องมีการผ่าตัดหรือทำการใส่ท่อระบาย

ไม่ว่าจะเป็นฝีต่อมบาร์โธลิน หรือฝีธรรมดาบริเวณอวัยวะเพศหญิง ไม่ควรที่จะเจาะหนอง และรักษาด้วยตนเอง เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อ การอักเสบลุกลามขึ้น ไม่สามารถทำให้ฝีหายขาดได้ การดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดต่อมบาร์โธลินอักเสบสามารถทำได้ด้วยตัวเอง  เช่น การรักษาความสะอาด เลี่ยงความอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศ หมั่นสังเตความผิดปกติบริเวณปากช่องคลอด หากสงสัยควรรีบพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและรักษา

บทความโดย แพทย์หญิง เบญจวรรณ ลิมป์วนัสพงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา การผ่าตัดและวินิจฉัยผ่านกล้องทางนรีเวช โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล (WMC)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ