สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ กลุ่ม Nudge Thailand (กลุ่มนักพฤติกรรมศาสตร์ประเทศไทย) ผู้แทนกลุ่มอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ประจำหมู่บ้าน (อป.มช.) และภาคีเครือข่าย ร่วมแถลงข่าวปิดโครงการ "พัฒนาและสนับสนุนกลไกประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนน" เพื่อขับเคลื่อนการทำงานคณะอนุกรรมการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน ร่วมกับประชาสัมพันธ์จังหวัดและศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัด (ศปถ.จ.)
นางสาวชนิสา ชมศิลป์ ผู้อำนวยการสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า "อุบัติเหตุทางถนน เป็นหนึ่งปัญหาสำคัญที่สร้างความสูญเสียทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และชีวิต การสูญเสียดังกล่าว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี และประเทศไทยยังไม่สามารถแก้ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้ตามเป้าหมายทศวรรษด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2554 - 2563 ขององค์การอนามัยโลก และในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา สถานการณ์การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย มากถึง 17,379 คน คิดเป็นอัตราผู้เสียชีวิต 26.65 ซึ่งมากกว่าปี พ.ศ. 2564 (จำนวน 16,957 คน อัตราผู้เสียชีวิต 25.92) และมากกว่าร้อยละ 80 เกิดจากพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ รวมถึง อุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ในกลุ่มเด็กและเยาวชน ตามแนวทางการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยจำเป็นต้องอาศัยการสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกันจากทุกภาคส่วน คณะอนุกรรมการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่ 002/2555 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2555 เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ แนวทางและแผนงานเกี่ยวกับการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนให้บรรลุวัตถุประสงค์และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และถือเป็นกลไกสำคัญในการสื่อสาร สะท้อนความเสี่ยงไปกลไกศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนส่วนกลางและระดับพื้นที่ รวมถึงสร้างการรับรู้ความเสี่ยงไปยังสาธารณชน
ทั้งนี้ กรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ สสส. สนับสนุนการขับเคลื่อนงานโครงการพัฒนาและสนับสนุนกลไกประชาสัมพันธ์เพื่อความปลอดภัยทางถนนโดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนในการยกระดับกลไกการสร้างการรับรู้และวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างบูรณาการทั้งสื่อส่วนกลาง สื่อในพื้นที่นำร่อง และภาคีเครือข่าย จนเกิดข้อค้นพบสำคัญไปสู่การเชื่อมประสานการทำงานระหว่างประชาสัมพันธ์ สื่อท้องถิ่น และ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนระดับจังหวัดในการทำงานร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลอุบัติเหตุในพื้นที่มาสื่อสารสร้างความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่คณะอนุกรรมการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนจะผลักดันในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยด้วยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์ด้านความปลอดภัยทางถนนต่อไป"
การรณรงค์ประชาสัมพันธ์อุบัติเหตุทางถนนมักถูกเห็นในช่วงเทศกาลสำคัญอย่าง เทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ แต่ในความเป็นจริง ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงเทศกาลใหญ่เท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นทุกวัน มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเล็งเห็นความสำคัญในการขับเคลื่อน "ปฏิทินความเสี่ยง" สำหรับแต่ละจังหวัด เนื่องจากแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันตามบริบทและกิจกรรมทางสังคม ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ
บทบาทของสื่อกลางและสื่อท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกระจายข้อมูลเพื่อให้ประชาชนและกลุ่มเป้าหมายเข้าใจปัญหาความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน การใช้สื่อในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงการใช้ "ปฏิทินความเสี่ยง" ในการสื่อสารเนื้อหาให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้และลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ดี การสร้างความตระหนักรู้ไม่สามารถทำได้โดยลำพัง คณะอนุกรรมการด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและความตระหนักในการใช้รถใช้ถนน ซึ่งรวมหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมงานด้านการสื่อสาร จึงจำเป็นต้องเป็นหัวหลักสำคัญในการกำหนดการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์ประเด็นอุบัติเหตุทางถนน เพื่อเป็นการกระตุกเตือนว่าในแต่ละช่วงเวลา ในแต่ละพื้นที่มีการละเล่น และ ความเสี่ยงที่ไม่เหมือนกัน และ เมื่อกลับมาทบทวน แผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ใยยุทธศาสตร์ที่ 4 เพื่อให้ทุกคนร่วมกันทำ เรื่องของการบูรณาการ จับมือกันไว้เพื่อสร้างโครงสร้างของทุกภาคส่วน ดังนั้น คำว่า"สื่อร่วมสมัย" จึงหมายถึงรวมถึงทั้งสื่อดั้งเดิม (โทรทัศน์, คน, วิทยุ) และสื่อสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันสื่อดั้งเดิมเริ่มแผ่วลง ในขณะทีสื่อใหม่กำลังมีบทบาทในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในยุคปัจจุบัน กรมประชาสัมพันธ์ไม่ทิ้งสื่อดั้งเดิมแต่จะทำอย่างไรให้มีการขยายผลมากขึ้น และมีการสร้างสื่อ Social เข้ามาประยุกต์กับสื่อดั้งเดิมมากขึ้น พร้อมกับเตรียมรับมือกับความท้าทายที่ทำอย่างไรให้การประชาสัมพันธ์สามารถการสร้างการรับรู้ได้ผล สื่อจึงต้องปรับตัวให้ทันตามกระแสและบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป และจะเป็นว่าสื่อไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ถ้าอยากสำเร็จต้องจับมือ โดยเฉพาะภาคประชาชน นางสาวชนิสา กล่าว
นายวิทยา จันทน์เสนะ ผู้อำนวยการกองบูรณาการความปลอดภัยทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า "การขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยต้องอาศัยกลไกที่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วน รวมถึงหน่วยงานราชการ เอกชน และภาคประชาสังคม โดยมีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เพื่อประสานงานและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน กลไกนี้มีความสำคัญในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการในการลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำคัญของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ไม่สามารถมองข้ามได้ เพราะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในสังคม โดยการให้ข้อมูลและการสื่อสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงที่นำไปสู่อุบัติเหตุ และการเสนอแนวทางการป้องกัน ซึ่งจะช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุและความสูญเสียที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ การใช้สื่อสมัยใหม่และการสร้างเครือข่ายในการสื่อสารเป็นกลไกสำคัญในการทำให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎจราจร โดยเฉพาะการมุ่งเน้นไปที่การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยบนท้องถนน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องทำร่วมกันเพื่อให้ประเทศไทยมีความปลอดภัยในการเดินทางมากยิ่งขึ้น" นายวิทยา กล่าว
รศ.ดร.กุลทิพย์ ศาสตระรุจิ ที่ปรึกษาสาขาการศึกษาและการเรียนรู้และ/หรือสุขภาพดิจิทัล สสส.กล่าวว่า พฤติกรรมการบริโภคสื่อสังคมของแต่ละ Generation นั้นมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ประสบการณ์ เทคโนโลยีที่เติบโตมา และความนิยมในแพลตฟอร์มต่างๆ ตัวอย่างเช่น 1) GEN X จะสนใจและใช้สื่อ Facebook TikTok YouTube เพื่อรับชมในเนื้อหาการเงิน การลงทุน การพัฒนาตนเอง 2) GEN Y จะสนใจและใช้สื่อ Facebook YouTube Instagram TikTok Streaming เพื่อรับชมเนื้อหาการออกกำลังกาย อาหารสุขภาพหรือจัดบ้าน 3) GEN Z จะสนใจและใช้สื่อ YouTube Instagram TikTok เพื่อรับชมเนื้อหาคอนเทนต์พัฒนาตัวเอง การท่องเที่ยวที่ทำเงินได้
นอกจากนี้ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) เพื่อสื่อสาร ในปัจจุบันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการสื่อสาร ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสื่อกลางที่ให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมสร้างและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่าง ๆ โดย อินฟลูเอนเซอร์นั้นจะเป็นคนผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ บทความ ที่เกี่ยวกับเรื่องที่สนใจ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย สร้างความน่าเชื่อถือ และเปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน
ดังนั้นในการจะออกแบบสื่อหรือผลิตสื่อที่โดนใจด้านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกและ ความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้จริง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาพฤติกรรมการเสพสื่อในปัจจุบัน รวมไปถึงการใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer )ของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างเนื้อหาที่ดึงดูดความสนใจ และกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในเนื้อหานั้นๆมากขึ้น และสุดท้ายการออกแบบสื่อในปัจจุบันต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย น่าสนใจและเผยแพร่ทางช่องทางที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รศ.ดร.กุลทิพย์ กล่าว
นางอรพรรณ อ่อนด้วง นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า "จังหวัดมหาสารคามได้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนนผ่านแคมเปญการสื่อสารที่สร้างสรรค์และมุ่งเน้นชุมชน ซึ่งจังหวัดได้ใช้ช่องทางสื่อสารทั้งแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญ เช่น การสวมหมวกนิรภัย การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และการดื่มแล้วขับ
หนึ่งในความสำเร็จที่สำคัญของจังหวัดคือแคมเปญวิดีโอไวรัล "ขี่ปุ๊บ สุบปั๊บ" ที่ส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซด์สวมหมวกนิรภัยทันทีเมื่อขึ้นรถ ซึ่งวิดีโอสั้นนี้ได้รับความนิยมและสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้ขับขี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการใช้คุณแม่และเด็กมาเป็น influencer เพื่อสื่อสารข้อความที่สำคัญ
นอกจากนี้ จังหวัดมหาสารคามยังได้เชื่อมโยงการสื่อสารกับวาระการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กและเยาวชน และมีการใช้ภาษาถิ่นในการจัดทำเนื้อหาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมชาติในการสื่อสาร โดยใช้ปฏิทินความเสี่ยงในการทำงานร่วมกันเป็นทีมในการออกแบบการสื่อสารและผลิตเป็น infographic ที่เผยแพร่ให้กับเด็กๆ เช่น การรณรงค์ให้เด็กใช้ทางม้าลายที่ถูกต้องในช่วงเปิดเทอม และการเตือนระวังในการขับรถในช่วงฤดูฝน" นางอรพรรณ กล่าว