กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับนโยบายปฏิรูปอุตสาหกรรมของ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เน้นให้ความสำคัญกับการพัฒนา และยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ "ยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG" ด้วยการอัพสกิลบุคลากร ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงอัพไซเคิลของเสียให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เชิงสร้างสรรค์ ทำให้สถานประกอบการมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ลดลงและสามารถต่อยอดสู่ตลาดสากล คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 1,390 ล้านบาท/ปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 61,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี (tCO2eq) หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 5 ล้านต้นคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1 แสนไร่ พร้อมเปิดพื้นที่แสดงศักยภาพในงาน Sustainability Expo 2024 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 6 ตุลาคม 2567
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลในการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดจนส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม นำโดย นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรมที่มุ่งขับเคลื่อน 3 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดการกากอุตสาหกรรมที่เป็นพิษ การส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และการสร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจใหม่ โดยมียุทธศาสตร์ในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 โดยมุ่งมั่นสนับสนุนผู้ประกอบการให้บรรลุเป้าหมายของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเติบโตไปพร้อมกับชุมชน จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ให้ความสำคัญกับการพัฒนา และยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
นายภาสกร กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้ดำเนินโครงการ "ยกระดับธุรกิจ SMEs ด้วยการประยุกต์ใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG" โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ พร้อมเชื่อมโยงสู่การขอมาตรฐานหรือฉลากสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือให้เป็นกลไกสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งได้อัพสกิลบุคลากรภาคอุตสาหกรรมกว่า 2,500 คน พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 565 กิจการ เกิดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากความหลากหลายทางชีวภาพ 130 ผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์จากกระบวนการอัพไซเคิล กว่า 70 ผลิตภัณฑ์ ผ่านการดำเนินงานตามแนวคิด BCG คือ 1) Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อสุขภาพและเครื่องสำอาง อาทิ ขิง ขมิ้นชัน ไพล การผลิตภัณฑ์ใหม่จากซูเปอร์ฟู้ด อาทิ โกโก้ ผำ ตั๊กแตน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่หรือต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมจากเส้นใยชีวภาพ อาทิ กัญชง สับปะรด ไผ่ ผักตบชวา 2) Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้านอาหาร แฟชั่นและไลฟ์สไตล์ หรืออิเล็กทรอนิกส์ จากวัสดุเหลือใช้ ของเสีย หรือผลพลอยได้จากกระบวนการผลิต อาทิ เศษไม้ ป้ายไวนิล เศษผ้า 3) Green Economy เศรษฐกิจสีเขียว โดยการส่งเสริมให้สถานประกอบการมีการกำหนดแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดำเนินการยกระดับและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมเพื่อจัดทำรายงานการประเมินก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอรับการรับรองจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก อาทิ CFO, CFP, CFR และ CE-CFP
นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินโครงการดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการ SMEs มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นจากต้นทุนที่ลดลง ทั้งจากต้นทุนการใช้พลังงาน ต้นทุนวัตถุดิบ ต้นทุนการขนส่ง และมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการต่อยอดสู่ตลาดสากล คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกว่า 1,380 ล้านบาทต่อปี และสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 61,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี (tCO2eq) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 5 ล้านต้นคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 1 แสนไร่ และเพื่อเป็นการแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการ จึงได้เข้าร่วมจัดนิทรรศการแสดงผลงานและการทดสอบตลาดในงาน Sustainability Expo 2024 ระหว่างวันที่ 27 กันยายน - 6 ตุลาคม 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยคิดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 5 แสนคน สามารถสร้างรายได้ และมียอดขายจากทดสอบตลาดกว่า 10 ล้านบาท
"สุดท้ายนี้ทาง ดีพร้อม พร้อมจะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สำคัญของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ไปสู่เป้าหมาย Net Zero Emission ซึ่งนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป" นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย