วิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ นานาที่มนุษยชาติกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภัยธรรมชาติ มลพิษ ฯลฯ คือการเตือนภัยจากธรรมชาติว่าถึงเวลาแล้วที่มนุษย์ต้องหาทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะในเวลานี้ ไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อมที่กำลังแย่ แต่มนุษย์เราก็กำลังแย่อย่างถ้วนหน้า ซึ่งการจะมุ่งสู่อนาคตที่ยั่งยืนได้ มนุษย์จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตบางอย่างเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลก และลดผลกระทบที่จะย้อนกลับมาหาตัวเรา โดยต้องรีบเปลี่ยนแปลงในวันที่เรายังพอจะทำอะไรได้บ้าง ก่อนที่ปัญหาจะหนักกว่านี้ และจะสายเกินไป
ปัจจุบัน "พลังงานยั่งยืน" ถูกพูดถึงบ่อยครั้งในการเป็นทางออกของนานาปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะไม่เพียงแต่เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาทำให้ปัญหาโลกร้อนแย่ลงกว่าเดิม แต่ยังเป็นกุญแจในการสร้างความสมดุลให้กับธรรมชาติด้วย ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทใช้แล้วหมดไป เพื่อให้ธรรมชาติได้มีเวลาฟื้นตัว ในขณะที่ชีวิตมนุษย์ก็ยังคงได้ใช้พลังงานเพื่อการดำรงชีวิตกันต่อไป แต่จะเป็นพลังงานที่สะอาดขึ้น
วิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
หากเอ่ยถึงวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม ภาพกว้างที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น ภาวะโลกร้อน-โลกเดือด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลลัพธ์ของ ปรากฏการณ์เรือนกระจก ที่ก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีปริมาณมากขึ้น ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อในวงกว้าง การที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในทุกพื้นที่ ตลอดจนเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งพายุ น้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟป่า ฯลฯ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายต่อชีวิตมนุษย์ สัตว์ พืชพรรณ และทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม เวลานี้ เราใกล้จะก้าวข้ามจุดที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้วเต็มที จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมประชาคมโลกถึงให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากที่สุด
ต่อมาคือ ปัญหามลพิษทางอากาศ ที่เราไม่ได้รู้สึกกันไปเองว่าคุณภาพอากาศมันแย่ลง ข้อเท็จจริงก็คือ หลายพื้นที่มีมลพิษในอากาศเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดบ่อยครั้ง ชัดเจนที่สุดก็คือ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ที่กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวเรามากขึ้น เพราะส่งผลต่อสุขภาพของเราโดยตรง ทั้งหายใจลำบาก แสบตาแสบจมูก หรือมีผื่นคัน นอกจากนี้ ยังพบปัญหาหมอกควันที่มีส่วนผสมของก๊าซพิษ ปรากฏการณ์ฝนกรด รวมถึงชั้นโอโซนที่ถูกทำลาย ทำให้ดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลตได้น้อยลง พลังงานความร้อนจึงผ่านมาถึงพื้นโลกโดยตรงด้วยความเข้มสูง ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต ในมนุษย์ เป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งผิวหนัง และโรคต้อกระจก
อีกปัญหาที่เกิดขึ้นเงียบ ๆ และดูเป็นเรื่องที่ไกลตัวเราคือ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ สืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรโลก และการขยายตัวของเมือง ทำให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าให้เป็นที่พื้นที่การเกษตรและก่อสร้างที่อยู่อาศัย การล่าสัตว์เพื่อการค้าที่ผิดกฎหมาย รวมถึงนำทรัพยากรต่าง ๆ มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ผลลัพธ์ของการทำลายระบบนิเวศป่าก็คือ ธรรมชาติเสื่อมโทรมจนเกินศักยภาพที่จะฟื้นตัวใหม่ได้ในเร็ววัน สายพันธุ์พืชและสัตว์หลายชนิดลดลงอย่างรวดเร็วจนสูญพันธุ์ นี่คือสัญญาณเตือนว่าธรรมชาติกำลังเสียสมดุล ในลำดับต่อไป คือมนุษย์ต้องเตรียมตัวรับผลกระทบ
ปัญหามลพิษทางน้ำและทางดิน เพราะคุณภาพน้ำและดินในปัจจุบันเสื่อมโทรมลงอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุมาจากการปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ขยะทำให้น้ำเน่าเสีย ขยะอาหารที่ถูกฝังกลบในดิน กระบวนการเน่าเสียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ทำให้ดินบริเวณนั้นเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค ทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของก๊าซเรือนกระจกมากถึง 8 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว การรั่วไหลของน้ำมัน สารเคมี และวัตถุอันตราย ตกค้างอยู่ในน้ำและดิน ทำให้นำน้ำนำดินมาใช้ประโยชน์ไม่ได้ สัตว์น้ำสัตว์ป่าก็อยู่ไม่ได้ หรือแม้แต่ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรก็ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศทางทะเล
ตามมาด้วย ปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำจืด ที่สืบเนื่องมาจากปัญหามลพิษทางน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ไม่เหมาะสม ทำให้ยากที่จะนำน้ำที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ รวมถึงภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สภาพความแล้งจัดในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้อุปโภคและบริโคภ ส่วนในภาพรวมจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคตอันใกล้
การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลืองและไร้ขีดจำกัด เพราะทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ ล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติแทบทั้งสิ้น การเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้ความต้องการสูงขึ้น ในขณะที่ทรัพยากรมีจำกัด และที่ผ่านมาเราก็ใช้ทรัพยากรกันมากเกินไปจนธรรมชาติฟื้นฟูตัวเองไม่ทัน ทรัพยากรหลายอย่างถูกใช้อย่างสิ้นเปลือง เช่น ภาชนะพลาสติกต่าง ๆ ล้วนมีวัตถุดิบตั้งต้นมาจากปิโตรเลียมเช่นเดียวกับน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวนมากถูกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ก่อให้เกิดปัญหา ขยะล้นโลก ตามมา และขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง แบบเดียวกันกับที่ปัญหาไมโครพลาสติกกำลังหวนกลับมาทำอันตรายต่อมนุษย์ในเวลานี้
จากยอดน้ำแข็งของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า "มนุษย์" คือผู้อยู่เบื้องหลังภาพกว้างของบรรดาวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมในทุก ๆ เรื่อง อาจเพราะไม่ทันได้ตระหนักให้ดีว่าผลลัพธ์ที่เลวร้ายจะย้อนกลับมาหาได้ในสักวัน ที่ผ่านมาเราจึงทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมกันอย่างมากมาย เมื่อธรรมชาติแบกรับปัญหาที่มนุษย์ก่อไว้ไม่ไหว ภัยธรรมชาติจึงเริ่มหวนคืนกลับมาเล่นงานมนุษย์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อมนุษย์เดือดร้อน ถึงได้เริ่มคิดหาวิธีแก้ปัญหา เพราะฉะนั้น จึงมีแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะบรรเทาปัญหาเหล่านี้ให้รุนแรงน้อยลง ไม่ใช่แค่เพื่อปกป้องโลกหรือเพื่อรักษาธรรมชาติเท่านั้น แต่เพื่อคุณภาพชีวิตของตัวมนุษย์เองด้วย
พลังงานยั่งยืนคืออะไร และอะไรบ้างที่เป็นพลังงานยั่งยืน
เพราะโลกของเรากำลังเผชิญกับวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ และมนุษย์เราก็กำลังเดือดร้อนกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ด้วย นี่จึงเป็นสัญญาณว่ามนุษย์ควรต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อลดผลกระทบเลวร้ายที่เกิดขึ้น ถึงอย่างนั้น ในการดำรงชีวิตประจำวันของเราก็ยังคงต้องพึ่งพาธรรมชาติและยังต้องใช้พลังงาน ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่จะทำลายธรรมชาติให้น้อยลง และส่งเสริมความยั่งยืนไปสู่อนาคตให้มากขึ้น ดูเหมือนว่า "พลังงานยั่งยืน" จะเป็นคำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในเวลานี้
พลังงานยั่งยืน (Sustainable Energy) คือพลังงานที่สามารถผลิตและใช้ได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและไม่สร้างผลกระทบในระยะยาวต่อทรัพยากรธรรมชาติ พลังงานเหล่านี้จะมาจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน ใช้แล้วไม่หมดไปหรือทดแทนได้ และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เพราะเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราใช้กันอยู่นี้ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำลายระบบนิเวศในระยะยาว
ทำให้ปัจจุบัน ประชาคมโลกและอุตสาหกรรมต่าง ๆ จึงเดินหน้าเปลี่ยนแปลงสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้นจนเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว ซึ่งพลังงานยั่งยืนก็มีทั้งพลังงานในแบบที่เราคุ้นเคยกันดี และยังมีพลังงานที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีสีเขียวอื่น ๆ อีก
- พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) เป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยนำเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานธรรมชาติและใช้ได้ไม่มีวันหมด มาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าผ่านแผงโซลาร์เซลล์ หรือแปลงเป็นพลังงานความร้อนในระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์
- พลังงานลม (Wind Energy) พลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้นจากการใช้กังหันลม แปลงพลังงานกลจากลมมาเป็นพลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันมีการใช้งานในหลายประเทศ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่ที่มีลมแรง
- พลังงานน้ำ (Hydropower) เป็นพลังงานที่ผลิตขึ้นโดยการใช้กระแสน้ำไหลเพื่อหมุนกังหันและสร้างไฟฟ้า โดยทั่วไปการผลิตจะเกิดขึ้นในเขื่อนขนาดใหญ่ที่กักเก็บน้ำ พลังงานน้ำถือเป็นพลังงานที่มีเสถียรภาพ สามารถผลิตพลังงานได้ต่อเนื่องในปริมาณมาก
- พลังงานชีวมวล (Biomass Energy) เป็นพลังงานที่ผลิตขึ้นจากการเผาไหม้หรือการแปลงอินทรียวัตถุ เช่น เศษพืช ไม้ เศษอาหาร และของเสียจากการเกษตร นำมาผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อน วัสดุชีวมวลเป็นทรัพยากรหมุนเวียน เพราะสามารถนำของเสียหรือวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ได้อย่างคุ้มค่า
- พลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) เป็นพลังงานที่มาจากความร้อนที่สะสมอยู่ใต้ผิวโลก ใช้งานโดยการขุดเจาะเพื่อนำน้ำร้อนหรือไอน้ำจากใต้ดินมาใช้ผลิตไฟฟ้าหรือให้ความร้อน เป็นพลังงานหมุนเวียนที่สามารถใช้ได้ต่อเนื่อง ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมีเสถียรภาพ
- พลังงานคลื่นและพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง (Wave and Tidal Energy) เป็นอีกแหล่งพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจ คือพลังงานที่ใช้คลื่น กระแสน้ำ หรือก็คือการเคลื่อนที่ของน้ำในมหาสมุทรเพื่อผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นพัฒนา ประเมินกันไว้ว่าน่าจะมีค่าใช้จ่ายสูงในการติดตั้งเทคโนโลยี
- พลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy) เกิดจากการแยกโมเลกุลของไฮโดรเจนจากน้ำหรือจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าหรือใช้เป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ เมื่อเผาไหม้ไฮโดรเจน เราจะได้ผลิตภัณฑ์คือน้ำเท่านั้น ไม่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ทว่ายังเป็นวิธีที่มีค่าใช้จ่ายสูง และในกระบวนการผลิตไฮโดเจนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น ยังคงมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงต้องวางแผนจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น
พลังงานยั่งยืน จะเป็นทางออกของปัญหาสิ่งล้อมได้อย่างไร
พลังงานยั่งยืน กลายเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เพราะแหล่งพลังงานยั่งยืนทั้งหลายล้วนเป็นพลังงานจากธรรมชาติที่มีอยู่แล้วและนำมาใช้ประโยชน์ได้ อย่างพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นพลังงานที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ แหล่งพลังงานของโลกทั้งใบในทุกวันตามธรรมชาติ พลังงานลม เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ พลังงานน้ำ การไหลของน้ำก็เป็นไปตามธรรมชาติ เราเพียงแต่ต้องเรียนรู้วิธีที่จะนำมาใช้ประโยชน์ เพื่อรบกวนทรัพยากรธรรมชาติให้น้อยลง โดยเฉพาะพลังงานฟอสซิล พลังงานยั่งยืน จึงเป็นพลังงานสะอาดที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือสร้างมลพิษน้อยที่สุด ดังนี้
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในยุคที่ประชาคมโลกตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และขับเคลื่อนสังคมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) จึงให้ความสำคัญกับแหล่งพลังงานที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือปล่อยในปริมาณที่น้อยมากเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานฟอสซิล รวมถึงมีกระบวนการที่ดึงเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกปล่อยออกมากลับมาใช้เป็นพลังงานใหม่ได้
ลดการปล่อยมลพิษสู่ดิน น้ำ และอากาศ เพราะการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งฝุ่นละออง และก๊าซพิษอื่น ๆ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่อสิ่งมีชีวิต และที่สำคัญกระบวนการมากมายยังทำลายสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ทำให้เกิดการปนเปื้อนในธรรมชาติ ในขณะที่พลังงานยั่งยืน จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษในกระบวนการผลิตพลังงาน จึงช่วยรักษาคุณภาพดิน น้ำ และอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะฟอสซิลเป็นทรัพยากรธรรมชาติประเภทที่มีจำกัด ใช้แล้วหมดไป ไม่สามารถสร้างทดแทนใหม่ได้ในช่วงเวลาอันสั้น ที่ผ่านมาเราก็ใช้ประโยชน์จากพลังงานฟอสซิลกันมาอย่างต่อเนื่องจนทรัพยากรเหลือน้อยเต็มที อาจทำให้เกิดการขาดแคลนในอนาคต และกว่าจะมีของใหม่ให้ใช้ ก็ต้องใช้เวลาอีกนานหลายล้านปี หรืออาจจะนานถึงหลายร้อยล้านปีก็เป็นได้ ในทางตรงกันข้าม แหล่งพลังงานยั่งยืนล้วนแล้วแต่เป็นแหล่งพลังงานจากธรรมชาติที่ไม่มีวันหมดไป หรือสามารถสร้างทดแทนได้ จึงไม่เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติของโลกมากเท่าไรนัก
ลดการทำลายระบบนิเวศ เพราะแหล่งพลังงานที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ต้องทำลายพื้นที่ป่าตามธรรมชาติและระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตอยู่ไม่น้อย ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การขุดเจาะน้ำมัน หรือการทำเหมืองถ่านหิน ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ไป ที่เหลืออยู่ก็ต้องหาทางเอาตัวรอดโดยบุกเข้ามาอยู่อาศัยกับมนุษย์และสร้างความเสียหายให้กับมนุษย์ โดยที่เราก็ลืมไปว่าเราไปบุกรุกที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าก่อน แต่กลับกัน พลังงานยั่งยืน สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ามาก จึงลดการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์และรักษาสมดุลของระบบนิเวศได้มากกว่า
ลดขยะและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสีย กระบวนการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมักสร้างของเสียจำนวนมาก ทั้งยังมีความเสี่ยงในกรณีสารเคมีหรือน้ำมันรั่วไหลแบบที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง ฝุ่นละอองจากการขุดเจาะ และของเสียจากการผลิตพลังงาน เช่น ขี้เถ้า กากตะกอน ฝุ่นพิษและเขม่าควัน กากของเสียที่ปนเปื้อนสารเคมีและโลหะหนัก น้ำเสีย ก๊าซพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนมักไม่สร้างขยะหรือสร้างน้อยมาก การใช้แหล่งพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนจึงสามารถลดภาระในการจัดการของเสียและป้องกันการปนเปื้อนของดิน น้ำ และอากาศได้ด้วย หรืออย่างพลังงานชีวมวล ที่นำเอาอินทรียวัตถุของเหลือกลับมาใช้ผลิตเป็นพลังงาน
ส่งเสริมเทคโนโลยีสีเขียว ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ครอบคลุมทั้งระบบ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) และขับเคลื่อนสังคมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เช่นเดียวกันกับที่ บริษัท อิเดมิตสึ โคซัน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กำลังดำเนินการเทคโนโลยีสีเขียวของตนเองหลายนวัตกรรม เพื่อนำไปสู่การสร้างระบบการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและเป็นพลังงานที่สะอาดขึ้น เช่น IDEMITSU Green Energy Pellets การีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วกลับมาเป็นพลังงาน รวมถึงการทำเชื้อเพลิงสังเคราะห์ เชื้อเพลิงจากแอมโมเนีย เชื้อเพลิงจากไฮโดรเจน เป็นต้น
เนื่องจาก "พลังงานยั่งยืน" เป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการก่อมลพิษ และช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ การเปลี่ยนมาใช้พลังงานที่ยั่งยืนจึงไม่เพียงแต่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนของมนุษยชาติจากวิกฤติการณ์สิ่งแวดล้อมด้วย ปัญหาที่ล้วนแต่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์แล้วย้อนกลับมาทำร้ายตัวเรา เมื่อเราตระหนักแล้วว่าภัยธรรมชาติและปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องที่จะมาใจเย็นกันได้อีกต่อไป การลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในเวลานี้
บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com