สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ผลักดันสนามบินไทยสู่เป้าหมาย NET ZERO Emission ด้วยระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS)

ข่าวทั่วไป Friday October 4, 2024 10:33 —ThaiPR.net

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) ผลักดันสนามบินไทยสู่เป้าหมาย NET ZERO Emission ด้วยระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS)

รู้หรือไม่!? ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 20 ของโลก (Climate Watch Data, 2020) ซึ่งส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงาน กว่าร้อยละ 70

อุตสาหกรรมการบิน เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission) จากเชื้อเพลิงที่ใช้กับเครื่องบิน เชื้อเพลิงที่ใช้กับยานพาหนะและอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (Ground Support Equipment : GSE) ที่ใช้ในสนามบิน และรถยนต์บริการรับ-ส่งผู้โดยสารและพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในสนามบิน รวมทั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้พลังงานในอาคารสนามบิน และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน ดังนั้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินทั้งจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นและการขยายสนามบิน ย่อมส่งผลต่อการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น

สำหรับกิจการสนามบิน สามารถจำแนกแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็น 3 ประเภท (การจำแนกประเภทนี้จะช่วยให้สามารถจัดทำแผนการลดและกำจัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ)

  • ประเภทที่ 1 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง : จากกิจกรรมของสนามบินหรือภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสนามบิน ได้แก่ รถยนต์ส่วนกลางของสนามบิน ยานพาหนะและอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (GSE) ที่เป็นของสนามบิน ระบบการจัดการขยะ/ของเสียในสนามบิน ระบบบำบัดน้ำเสียในสนามบิน ระบบ/อุปกรณ์ดับเพลิงในสนามบิน
  • ประเภทที่ 2 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อม : จากการซื้อพลังงานมาใช้ในกิจกรรมสนามบิน ได้แก่ พลังงานไฟฟ้าการทำความเย็น
  • ประเภทที่ 3 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ : ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุม กำกับดูแลของสนามบิน ได้แก่ เครื่องบินขณะขึ้น/ลงจอด/เคลื่อนตัว ยานพาหนะและอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น (GSE) ที่ไม่ใช่ของสนามบิน รถแท็กซี่ รถโดยสารที่ให้บริการผู้โดยสาร รถยนต์ที่มารับ-ส่งผู้โดยสาร รถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งของการจัดการขยะ/ของเสีย รถยนต์พนักงาน รถรับ-ส่งพนักงาน

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (The Civil Aviation Authority of Thailand : CAAT) โดย ฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมกิจการการบินพลเรือน (APD) มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้สนามบินบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของสนามบิน โดยเฉพาะนโยบายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศ ด้วยการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมสนามบิน (AIRPORT EMS) ที่มีความเฉพาะเจาะจงกับกิจกรรมสนามบิน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมตั้งแต่ การวางแผน การป้องกันและควบคุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม การติดตามผลการดำเนินงาน ปรับปรุง/แก้ไขให้ดีขึ้น และเป็นเครื่องมือสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (NET ZERO Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608 โดย

  • วางนโยบาย เป้าหมายที่ชัดเจน : สามารถกำหนดนโยบาย เป้าหมาย และดัชนีชี้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) เป็นต้น)
  • สร้างระบบฐานข้อมูล : มีระบบการบันทึก จัดเก็บข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซ การใช้พลังงาน และดัชนีชี้วัดสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ช่วยให้การติดตามผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ระบุแหล่งกำเนิดก๊าซ : สามารถระบุแหล่งกำเนิดก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซ หรือกิจกรรมชดเชยการปล่อยก๊าซ
  • จัดตั้งคณะทำงานที่เฉพาะเจาะจง : คณะทำงานเฉพาะที่รับผิดชอบในการดำเนินงานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญในการประสานงาน สื่อสาร จัดโปรแกรมที่สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • เน้นการมีส่วนร่วม : การมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานสนามบิน คู่ค้า/ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างความร่วมมือในการหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
  • ครอบคลุมคู่ค้า/ผู้รับเหมา : ครอบคลุมการพิจารณาการปล่อยก๊าซในห่วงโซ่การผลิต ได้แก่ สินค้าและบริการของคู่ค้า/ผู้รับเหมา ทำให้สามารถควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซได้ โดยการกำหนดเป็นกฎเกณฑ์ หรือเงื่อนไขในข้อตกลง/สัญญาจ้าง เช่น ให้มีการรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น

  • เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ