ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม และประมงจังหวัดสมุทรสาคร ยืนยันว่ามาตรการจัดการปัญหาปลาหมอคางดำที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเกิดผลดี ส่งผลให้ทั้งสองจังหวัดพบปลาลดลงอย่างเป็นรูปธรรม ด้าน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยังเดินหน้าสนับสนุนกรมประมงดำเนิน 5 มาตรการในการจัดการปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการสนับสนุนปลาผู้ล่าเพื่อปล่อยลงในแหล่งน้ำตามแนวทางของกรมประมง เตรียมสนับสนุนปลากะพงขาว 10,000 ตัวให้เขตบางขุนเทียน
นายเผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า จากการดำเนินมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง จังหวัดสมุทรสาครสาครสามารถกำจัดปลาหมอคางดำได้แล้ว 1,662,879 กิโลกรัม จนถึงวันนี้ชาวประมงจับปลาหมอคางดำได้ลดลง จากเดิมเรืออวนรุนเคยจับปลาหมอคางดำได้เที่ยวละ 1-2 ตันแต่มาวันนี้จับได้เพียงเที่ยวละ 300 กิโลกรัม บางทีเหลือเพียง 100 กิโลกรัม ดังนั้น ประเมินได้ว่าแหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดสามารถกำจัดปลาหมอคางดำแล้ว 70-80% ของปลาหมอคางดำที่อยู่ในแหล่งน้ำ
ขณะที่ นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม อธิบายว่า จังหวัดสมุทรสงครามร่วมมือกับทุกภาคส่วนจับปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกวันนี้ปลาหมอคางดำที่จับได้จำนวนลดลง และปลาที่จับได้ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์หายไปจากแหล่งน้ำ ขณะนี้ จังหวัดสมุทรสงครามจะเน้นส่งเสริมการลดจำนวนปลาในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร และส่งเสริมการนำปลามาใช้ประโยชน์และการบริโภคให้มากขึ้น เป็นแนวทางที่จะช่วยควบคุมจำนวนปลาได้ผลลัพธ์ที่ดี
ด้าน นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า นับตั้งแต่ ซีพีเอฟ โดยนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ได้ประกาศแผนปฏิบัติการเชิงรุก 5 โครงการเร่งด่วนลดปริมาณปลาหมอคางดำตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ซีพีเอฟ เดินหน้าบูรณาการความร่วมมือกับกรมประมงและภาคีเครือข่ายทั้งโรงงานปลาป่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ชาวประมง และชุมชน ช่วยกันกำจัดปลาหมอคางดำในทุกพื้นที่ จนถึงวันนี้ บริษัทได้ร่วมกับโรงงานศิริแสงอารำพี จังหวัดสมุทรสาครรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อผลิตปลาป่นแล้วมากกว่า 1,845,000 กิโลกรัมและยังรับซื้อต่อเนื่องตามเป้าหมายที่ 2,000,000 กิโลกรัม การสนับสนุนกรมประมงจับปลาออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติใน 18 จังหวัดรวม 52 ครั้ง สามารถช่วยกำจัดปลาออกจากแหล่งน้ำได้กว่า 30,000 กิโลกรัม พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดกิจกรรมจับปลาออกจากแหล่งน้ำในทุกพื้นที่ จากการดำเนินมาตรการอย่างจริงจังส่งผลให้หลายพื้นที่พบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำมีจำนวนลดลง
สำหรับในเดือนตุลาคมนี้ บริษัทยังเดินหน้าบูรณาการภาคีเครือข่ายในการกำจัดปลาหมอคางดำต่อเนื่อง นอกจากสนับสนุนการจับปลาออกจากแหล่งน้ำแล้ว ยังเน้นสนับสนุนปลาผู้ล่าเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำที่จับปลาขนาดใหญ่ออกตามแนวทางของกรมประมง สำหรับในเดือนตุลาคมมีแผนสนับสนุนปลาผู้ล่าอีก 10,000 ตัวแก่เขตบางขุนเทียนเพื่อช่วยกำจัดปลาหมอคางดำขนาดเล็กในแหล่งน้ำ ที่ผ่านมา ซีพีเอฟได้มอบปลากะพงขาวขนาด 4-5 นิ้วเพื่อปล่อยลงสู่แหล่งน้ำในจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร ระยอง จันทบุรี ชลบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสงขลา รวม 90,000 ตัว ซึ่งกรมประมงจะมีการเก็บข้อมูลเพื่อติดตามผลหลังจากปล่อยปลาผู้ล่า นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมุ่งเน้นบูรณาการความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ หาแนวทางการใช้ประโยชน์ปลาหมอคางดำ สนับสนุนให้มีการจับปลาออกจากแหล่งอย่างเป็นระบบ เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ และกรมประมง สนับสนุนให้เรือนจำกลางสมุทรสงครามนำปลาหมอคางดำที่จับได้มาหมักทำเป็นน้ำปลาตรา "หับเผย แม่กลอง" ทำน้ำหมักชีวภาพ และสับละเอียดทำเป็นอาหารเลี้ยงเป็ดและเลี้ยงปลา รวมทั้งฝึกเป็นทักษะอาชีพให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งตั้งเป้าจะช่วยนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ได้ 5,000 กิโลกรัม
ก่อนหน้านี้ ซีพีเอฟได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร นำนวัตกรรม "กล้าเชื้อปลาร้า" ไปใช้ในการหมักปลาร้าช่วยลดระยะเวลาในการหมักปลาได้มากกว่า 50% ไม่ต้องรอนาน 1-2 ปี ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำพัฒนาเมนูอาหาร ร่วมทั้งร่วมมือกับโรงแรมในจังหวัดนครศรีธรรมราชพัฒนาเมนูอาหารเพื่อ เพิ่มการบริโภคปลาหมอคางดำมากขึ้นตามแนวทางของกรมประมงที่จะส่งเสริมให้เกิดการจับปลาออกจากแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน