สำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ อุปกรณ์ในการจับยึดแผงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องมีความแข็งแรงทนทานเพราะต้องพบเจอกับสภาพอากาศที่รุนแรงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้แผงโซลาร์เซลล์หลุดจนเกิดความเสียหาย เราจึงต้องเลือกอุปกรณ์จับยึดที่เหมาะสมแก่การใช้งาน
การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จะแยกตามพื้นผิวติดตั้ง ดังนี้:
- ติดตั้งยึดติดบนหลังคา (Roof Mounting) แบ่งเป็น เมทัลชีท CPAC กระเบื้อง (ลอนคู่) หรืออลูมิเนียม
- ติดตั้งบนดาดฟ้าของอาคาร (Ground Mounting)
อุปกรณ์จับยึดแผงโซลาร์เซลล์ จะประกอบด้วย
ราง (Rail) : รางอลูมิเนียมที่เป็นฐานรองแผง มีความยาวเฉลี่ยที่ 2.1 เมตร และ 4.2 เมตร จะมีรูปร่างที่แตกต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์
ตัวยึดหลังคา (L-Fleet) : จะเป็นตัวที่ยึดรางให้ติดกับหลังคา มีหลายรูปแบบแตกต่างกันไปตามวัสดุของหลังคา เช่น Tile roof hook ใช้กับหลังคา CPAC, L-Fleet ใช้กับหลังคาอลูมิเนียมหรือสามารถใช้ได้กับหลังคาหลากหลายรูปแบบ, Tin roof clamp กับ Metal roof hook ใช้กับหลังคาเมทัลชีทและกระเบื้องลอนคู่
Mid-Clamp : ตัวยึดแผงโซลาร์เซลล์แต่ละแผ่นตรงกลางระหว่าง 2 แผง โดยจะกดแผงลงไปกับราง
End-Clamp : ตัวยึดแผงโซลาร์เซลล์ปิดหัวท้าย อธิบายให้เห็นภาพอย่างง่าย คือ ตัวยึดที่ติดอยู่ที่แผงแรกสุดและแผงท้ายสุด เป็นการล็อคกดแผงลงไปกับรางกั้นไม่ให้แผงไหลหลุดออกจากราง
Ground Plate : แผ่นโลหะบาง ๆ ที่สอดเข้าไประหว่างขาของ Mid-Clamp แทรกอยู่ใต้แผงระหว่างตัวแผงกับรางเพื่อให้แผงกับรางเชื่อมถึงกัน (เพื่อเชื่อมต่อลงกราวด์ระบบ)
Ground Lug : อุปกรณ์สำหรับยึดสายกราวด์ในแต่ละแถวลงไปยังระบบกราวด์หลัก
Splice : อุปกรณ์สำหรับยึดต่อรางเมื่อต้องการติดแผงโซลาร์เซลล์ที่ยาวกว่าราง 1 ราง
ขาตั้ง (Mounting Structure) : ขาตั้งสำหรับติดตั้งบนดาดฟ้าของอาคารโดยจะมีรูปแบบแตกต่างกันไปเพื่อเป็นฐานให้กับราง
อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเตรียมเพื่อกันหลังคารั่วจากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ คือ สีกันซึม (Roof seal) และซิลิโคนซีลแลนท์ (Sealant) เอาไว้ปิดรอยหลังคา