ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ "มือกลองดาวน์ซินโดรม" บัณฑิตใหม่จากรั้วราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ข่าวบันเทิง Tuesday October 8, 2024 17:16 —ThaiPR.net

ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์

หากพูดถึงความใฝ่ฝันของแต่ละครอบครัวก็จะมีความแตกต่างกันออกไป แต่ความใฝ่ฝันหนึ่งที่น่าจะเหมือนกันคือทุกครอบครัวอยากเห็นลูกของตนเองได้รับการศึกษาที่ดีและสูงสุดเท่าที่จะทำได้ เพราะทุกคนเชื่อมั่นว่าการศึกษาสูงจะทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นและมั่นคง ซึ่งครอบครัว"กีรติชัยพันธ์" ก็มีความใฝ่ฝันเช่นนี้ที่อยากเห็นน้องวุฒิ หรือ ณัฐวุฒิ กีรติชัยพันธ์ เด็กพิเศษดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome ) มีการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ แต่การจะก้าวเข้าสู่และผ่านการศึกษาในแต่ละระดับชั้นไปให้ได้นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆสำหรับครอบครัวที่มีน้องเป็นเด็กพิเศษ แต่คุณพ่อจรุงเกียรติ กีรติชัยพันธ์และคุณแม่ภรณี เช้าเจริญประกิจ ก็ไม่ยอมแพ้ จับมือกันพาน้องวุฒิก้าวผ่านมาได้จนประสบความสำเร็จสามารถเรียนจบปริญญาตรี

และวันที่ทุกคนรอคอยก็มาถึงและเป็นอีกหนึ่งวันที่น้องวุฒิ ได้สร้างความภูมิใจ ดีใจ ความสุข และเป็นปลื้มให้แก่คุณพ่อ และคุณแม่ รวมถึงตัวน้องวุฒิเอง นอกจากครอบครัวแล้วน้องวุฒิยังสร้างความสุข ความประทับใจให้แก่ทุกคนที่คอยเป็นกำลังใจ และสนับสนุนน้องมาตลอดด้วย โดยเฉพาะทางมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา (มบส.) ที่เปิดโอกาสให้น้องวุฒิได้เข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในรั้วมหาวิทยาลัย และได้รับใบปริญญาที่มาช่วยการันตีความรู้ และความสามารถของน้อง และช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาน้องวุฒิได้เข้ารับปริญญาดุริยางคศาสตรบัณฑิต จากวิทยาลัยดนตรีตะวันตก มบส. แถมได้รับรางวัลบัณฑิตดีเด่น และเป็นบัณฑิตใหม่เป็นที่เรียบร้อย

ต้องยอมรับว่าก่อนที่น้องวุฒิจะประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งมาจากสถานศึกษาที่เปิดกว้างและยอมรับในตัวเด็กพิเศษ ซึ่ง มบส.ก็เป็นหนึ่งในสถาบันที่ใจกว้างเปิดรับน้องเข้ามาเรียนร่วมกับเพื่อนปกติทั่วไปได้ เรามาฟังเสียงจากทางมหาวิทยาลัยกัน โดยผศ.ดร.คณกร สว่างเจริญ อธิการบดี มบส. บอกว่า ต้องขอแสดงความยินดีกับน้องวุฒิและครอบครัวด้วยที่น้องสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆจนสำเร็จการศึกษา ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเลย ทั้งหมดนี้ต้องขอชื่นชมคุณพ่อและคุณแม่น้องวุฒิที่รัก พยายามและสนับสนุนลูกชายจนมาถึงจุดนี้ได้ รวมถึงตัวน้องวุฒิที่มีความมุ่งมั่นและความพยายาม ที่สำคัญถือเป็นแบบอย่างให้แก่นักศึกษาคนอื่นด้วย ทั้งนี้ มบส.เปิดโอกาสให้เด็กทุกคน รวมถึงเด็กพิเศษที่อยากจะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต้องได้เข้าศึกษา รวมทั้งยังอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆด้วย ที่สำคัญมหาวิทยาลัยมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มาตลอด โดยเฉพาะเป้าหมายการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

จากความมุ่งมั่นของครอบครัว"กีรติชัยพันธ์" ทำให้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่าครอบครัวน้องวุฒิมีเทคนิคในการเลี้ยงดูน้องวุฒิอย่างไรทำให้น้องก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านและฟันฝ่าอุปสรรคอะไรกันมาบ้าง และมีวิธีรับมือกับปัญหาอย่างไร โดยคุณแม่ภรณี เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า น้องวุฒิเป็นลูกชายคนเดียวของครอบครัว ตอนนี้น้องอายุ 24 ปีแล้ว คุณแม่ยังจำได้เลยว่าพอรู้ว่าน้องวุฒิไม่ปกติเหมือนเด็กทั่วไป คุณพ่อกับคุณแม่ตั้งเป้าที่จะต้องไม่ปล่อยให้ลูกเป็นภาระสังคม ต้องพัฒนาให้น้องเหมือนเด็กปกติให้มากที่สุด โดยเฉพาะการเรียนเป็นเรื่องจำเป็นมาก ต้องช่วยน้องวุฒิอ่านหนังสือให้ออก เขียนหนังสือให้เป็น เพื่อเป็นเรื่องจำเป็นในชีวิตประจำวัน ถ้าเด็กปกติได้เรียนอะไร แม่ก็จะให้น้องวุฒิได้เรียนเช่นกัน แม้ว่าการจะเข้าเรียนในแต่ละระดับชั้นของน้องวุฒิจะถูกโรงเรียนส่วนใหญ่ปฎิเสธก็ตาม และเป็นเรื่องที่ทำให้คุณแม่ต้องเสียน้ำตาตลอด แต่คุณแม่ก็ไม่รู้สึกท้อ เสียใจได้และต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ เพราะเรานึกอยู่เสมอต้องทำเพื่อลูก

คุณแม่ภรณี เล่าต่อว่า ช่วงอนุบาลจนถึงป.1 น้องวุฒิเรียนที่โรงเรียนทานตะวัน ซึ่งระหว่างที่เรียน ป1. คุณครูตูน หรือกฤษฎา ยินดีสุข ได้สังเกตเห็นว่าน้องวุฒิสนใจดนตรีเป็นพิเศษ และน้องจะตีกลองได้วันละหลายชั่วโมง ทำให้ค้นพบว่าน้องวุฒิมีความสามารถทางด้านดนตรี โดยเฉพาะการตีกลอง คุณครูตูน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของรศ.ดร.สุกรี เจริญสุข อดีตคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชวนคุณพ่อคุณแม่ไปหาอาจารย์สุกรี ซึ่งท่านน่ารักมาก แนะนำการเล่นดนตรีให้น้องด้วย และเมื่อจบป.6 น้องได้ไปเรียน ม.1-ม.3 ที่โรงเรียนวีรสุนทร ซึ่งเป็นช่วงที่หาโรงเรียนให้น้องยากมากๆ ต้องขอบคุณอาจารย์ปกรณ์ คงสุนทร เช่นกันที่ดูแลน้องเป็นอย่างดี และอาจารย์สุกรียังเปิดโอกาสให้น้องวุฒิเข้ามาเรียน ชั้น ม.4-6 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล ซึ่งระหว่างที่เรียนน้องได้มีโอกาสฝึกฝนทางด้านดนตรีต่างๆอย่าเต็มที่ น้องวุฒิชอบมาก น้องสามารถเล่นดนตรีได้หลายอย่าง เช่น ไวโอลีน เปียโน มาริมบ้า หรือระนาดฝรั่ง) ที่ชอบมากที่สุดคือ การตีกลอง

เข้าเรียนต่อในรั้วมหาวิทยาลัยคุณแม่ภรณี บอกว่า กว่าจะหาที่เรียนได้ก็ยากสุดๆ สุดท้ายอาจารย์สุกรี และผศ.ดร.สุดารัตน์ ชาญเลขา ยื่นมือมาช่วยเหลือให้น้องได้เข้าเรียนมหาวิทยาลัยและต้องขอบคุณมากคือมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาที่มองเห็นคุณค่าของเด็กพิเศษอย่างน้องวุฒิ และให้โอกาสเข้ามาเรียน ทำให้น้องได้พบเห็นสิ่งดีๆ ได้เรียนรู้สังคมที่กว้างขึ้น รวมถึงทีมอาจารย์สำนักกิจการศึกษา มบส. ก็ดูแลและอำนวยความสะดวกให้น้องมาตลอด 4 ปี แต่ช่วงนั้นก็เกิดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พอดี ทำให้ครอบครัวเราต้องดูแลเรื่องการเรียนของน้องเป็นพิเศษ มีรายงานไหนต้องพิมพ์ส่ง คุณแม่พยายามให้น้องเขียนส่งอาจารย์ เพื่อเป็นการฝึกเขียน และจะได้รู้ว่าน้องทำรายงานเอง เป็นการเรียนที่หนักมาก แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ด้วยดี และเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ด้วย

คุณแม่น้องวุฒิ ยังบอกอีกว่า แผนชีวิตของน้องวุฒิจากนี้ถึงเวลาที่น้องจะต้องฝึกทำงานจริงจัง ต้องมีอาชีพเป็นของตนเอง อาชีพที่เท่าเทียมกับคนปกติ หรือดีกว่า และสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้ด้วย ซึ่งการทำงานเพื่อจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตจริงและอยู่ร่วมกับสังคมให้ได้ ในเมื่อน้องชอบดนตรี เรียนจบสายตรงทางด้านดนตรี เป็นสิ่งที่ถนัด ชอบ และน้องชอบต้องการสร้างเสียงเพลงให้สังคมมีความสุข เราจึงฟันธงอาชีพของน้องวุฒิคือ"นักดนตรีเปิดหมวก" ครอบครัวปูเส้นทางอาชีพนี้ให้น้องมาตั้งแต่ อายุ 10 ขวบ ด้วยการพาน้องไปดูนักดนตรีเปิดหมวก เพื่อซึมซับในอาชีพ ซึ่งน้องชอบมากอยากแสดงออก ยิ่งได้คำชมน้องดีใจมาก เมื่อน้องชอบแม่ก็เริ่มพาน้องไปตีกลองเปิดหมวก น้องมีความสุข และยังได้พบปะผู้คนมากมายยิ่งทำให้น้องได้ฝึกพัฒนาการด้านต่างๆด้วย หลายปีที่ผ่านมาเราออกไปนอกบ้านกัน 365 วัน แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะเหนื่อย แต่เมื่อเห็นน้องมีความสุข เราก็หายเหนื่อย ทั้งนี้ถ้าไม่ติดงานอื่นๆ น้องจะออกมาเปิดหมวก อาทิตย์ละ 4-5 วัน โดยจะไปเปิดหมวกตามห้างสรรพสินค้า เช่น พาซิโอ กาญจนาภิเษก, เซ็นทรัล พระราม 3, มาบุญครอง, วิคตอเรีย การ์เด้นส์, เดอะ โฟร์ท นอกจากนี้น้องวุฒิอยากช่วยสังคมเท่าที่จะมีโอกาส หรืออาจจะเรียนต่อถ้ามีคนให้โอกาสดีๆ กับน้องวุฒิ หรือหน่วยงานใดมีงานให้น้องเราก็ยินดีมาก

"คุณพ่อและคุณแม่รักน้องวุฒิมาก ยิ่งน้องเป็นเด็กพิเศษ ต้องพยายามเลี้ยงดูและฝึกฝนพัฒนาการต่าง ๆ ให้น้องเหมือนคนปกติมากที่สุด เราต้องการความเท่าเทียมและเสมอภาคในสังคม แม่เสียใจที่หลายคนแค่ได้ยินว่าน้องเป็นเด็กพิเศษก็ก้มหน้าก้มตาปฏิเสธ อยากให้มองเด็กก่อน ว่าเค้าเป็นอย่างไร จะเรียนได้หรือไม่ ฝากครอบครัวที่มีลูกเหมือนน้องวุฒิ อย่าเก็บน้องไว้ในบ้าน อย่าทิ้งเขา ทุกคนก็มีหัวใจ 1 ดวงเท่ากัน เราควรให้ความรักและดูแลเขาเหมือนและเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป มันอาจจะยาก แต่ก็เป็นไปได้เหมือนน้องวุฒิ" คุณแม่ ภรณี กล่าวและว่า น้องวุฒิทำให้ครอบครัวและตัวน้องเองประทับใจในหลายเรื่อง เช่น ล่าสุดน้องวุฒิยังได้รับการคัดเลือกเข้ารับรางวัล"หม่อมงามจิตต์ บุรุฉัตร บุคคลสำคัญของโลก" รางวัลสร้างเสริม คนดีมีคุณธรรม ประจำปี 2567 ประเภทคนพิการดีเด่นในการพัฒนาคุณภาพชีวิตทางสติปัญญา หรือช่วงที่เรียนม.ต้นน้องได้เสื้อสูทเกียรติยศจากโรงเรียนวีรสุนทร ได้ขึ้นคอนเสริ์ตใหญ่กับพี่เป๊ก ผลิตโชค อายนบุตร ที่พารากอน ฮอลล์ ตอนนั้นแสดง 3 รอบมีผู้ชมรอบละ 5 พันกว่าคน ได้ร่วมแสดงในงานเปิดหมวกนานาชาติเวิร์คพอยท์นอกจากนี้ยังร่วมแสดงมินิคอนเสริ์ตกับพี่ศิลปิน เช่น ป้อม ออโต้บาน, ติ๊ก กลิ่นสี, ชรัส เฟื่องอารมณ์, วิยะดา โกมาระกุลที่ร้านออโต้บาน เพื่อนำเงินรายได้บริจาคให้ผู้พิการติดเตียง งานนั้นได้เกือบ 200,000 บาท

สุดท้าย น้องวุฒิ"ได้ฝากเป็นกำลังใจให้แก่ทุกครอบครัวที่มีลูก หรือพี่น้อง และญาติที่เป็นเด็กพิเศษว่าถ้าน้องๆชอบทำอะไรเป็นพิเศษ ขอให้ตั้งใจทำให้เต็มที่ รวมถึงผู้ที่กำลังหมดหวัง หรือท้อแท้กับชีวิต ขอให้สู้ ๆ อย่าหมดกำลังใจและอย่ายอมแพ้นะครับ น้องวุฒิภูมิใจและดีใจที่เรียนจนจบปริญญา และภูมิใจที่สุดได้เกิดมาเป็นลูกคุณพ่อคุณแม่ ฝากติดตามและเป็นกำลังใจให้น้องวุฒิในช่องทางต่าง ๆช่องยูทูป กด subscribe ที่ Drummonte Offcial , Amazing Drum น้องวุฒิตีสุดใจ เฟซบุ๊ก Amazing Drum น้องวุฒิตีสุดใจ ,Drummonte ติ๊กต้อก Drummonte.official หรือใครสนใจจ้างน้องมาแสดงความสามารถติดต่อได้ที่โทร.08-9664-6624

และนี้เป็นอีกครอบครัวเด็กพิเศษที่ไม่เคยคิดจะยอมแพ้กับชีวิตและสามารถพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นแล้วว่า ถ้าเรามีความพยายาม ทุกอย่างสามารถพัฒนาได้ เพียงแต่สังคมต้องเปิดกว้าง ให้โอกาส ยอมรับและให้ความเท่าเทียมกันกับเด็กกลุ่มนี้ด้วย เชื่อว่าในอนาคตเราอาจจะได้เห็นความสามารถพิเศษ หรืออัจฉริยะจากดวงดาวพิเศษอีกหลายดวง

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ