เชื้อเพลิงสังเคราะห์ อีกความหวังเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 9, 2024 08:57 —ThaiPR.net

เชื้อเพลิงสังเคราะห์ อีกความหวังเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

ในยุคที่ความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่น้ำมันเชื้อเพลิงยังคงเป็นแหล่งพลังงานหลักสำหรับการใช้ยานพาหนะส่วนตัว ขนส่งมวลชน และขนส่งภาคอุตสาหกรรม และในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงผันผวนเนื่องจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลาง อีกทั้งยังมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทในการกำหนดทิศทางการใช้พลังงานของมนุษยชาติมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกิดเป็นความตระหนักรู้และตื่นตัวในเรื่องของการพัฒนาน้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานทางเลือกต่าง ๆ ที่จะมาทดแทน โดยมีเป้าหมายที่การประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทำให้ที่ผ่านมา ในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงานมีความพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นการลดสารตะกั่วในน้ำมันเบนซิน ลดสารกำมะถันในน้ำมันดีเซล เพื่อให้เชื้อเพลิงสะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคย รวมถึงมีการพัฒนาเชื้อเพลิงในรูปแบบอื่น เพื่อจะนำมาใช้ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นผลผลิตจากปิโตรเลียมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่สนใจในช่วงที่โลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดก็คือ เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (Synthetic Fuels) ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่ตอบโจทย์ทั้งความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นได้หรือไม่ และจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้แค่ไหน

เชื้อเพลิงสังเคราะห์คืออะไร

เชื้อเพลิงสังเคราะห์ (Synthetic Fuels) เป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตขึ้นด้วยกระบวนการทางเคมี โดยแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงสังเคราะห์ จะเป็นวัสดุที่มีธาตุคาร์บอน (C) หรือไฮโดรเจน (H) เป็นองค์ประกอบ เนื่องจากสามารถติดไฟได้ แต่จะไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลโดยตรง โดยเชื้อเพลิงสังเคราะห์สามารถทำหน้าที่เป็นพลังงานทดแทนหรือใช้ในลักษณะเดียวกันกับเชื้อเพลิงฟอสซิล คือเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถเครื่องยนต์สันดาปภายในได้ทดแทนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน

คุณสมบัติที่ทำให้เชื้อเพลิงสังเคราะห์เป็นความหวังที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ เป็นเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ไม่ปล่อยหรือไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีบทบาทมากที่สุดในปรากฏการณ์เรือนกระจก ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก หรือแม้ว่าจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยออกมาจากกระบวนการเผาไหม้ ก็จะถูกกู้คืนกลับไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ต่อไป

หนึ่งในเชื้อเพลิงสังเคราะห์ที่มีการศึกษาค้นคว้าและพัฒนากันอย่างกว้างขวาง คือ เชื้อเพลิงเหลวสังเคราะห์ ที่ผลิตขึ้นโดยการสังเคราะห์ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กู้คืนมาจากบรรยากาศ และไฮโดรเจนที่ได้จากการแยกสารประกอบในน้ำ ด้วยพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เชื้อเพลิงเหลวจะเป็นเชื้อเพลิงที่มีความหนาแน่นสูง ขนส่งสะดวก และมีโมเลกุลสะอาด คือไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งนี่จะเป็นกุญแจที่ทำให้เราเข้าสู่สังคมความเป็นกลางทางคาร์บอนกันได้ง่ายขึ้น

เชื้อเพลิงสังเคราะห์ กับความหวังด้านสิ่งแวดล้อม

การพัฒนาเชื้อเพลิงสังเคราะห์ได้รับความสนใจมาก ด้วยถูกมองว่าเป็นทางเลือกหนึ่งในการลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยคุณสมบัติที่สามารถใช้กับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน นำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียมอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าปัจจุบันเราจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าได้สำเร็จแล้วก็จริง แต่บนท้องถนนจะยังมีรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ใช้งานทั่วไปอีกเป็นจำนวนมากต่อไปอีกหลายทศวรรษ

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างมากที่ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่จะยังใช้งานกันต่อไป ว่าจะมีเชื้อเพลิงใดที่สามารถนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลเดิมได้ โดยที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลงกว่าที่เคย และยังคงใช้รถยนต์คันเดิมกันได้ต่อไป หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปใช้รถพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เทคโนโลยีเชื้อเพลิงสังเคราะห์จึงเป็นเทคโนโลยีที่บริษัท อิเดมิตสึ โคซัน จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กำลังผลักดันและเผยแพร่เทคโนโลยีนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการนำมาใช้จริงในอนาคตอันใกล้นี้

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ "เชื้อเพลิงสังเคราะห์" จะเป็นคำตอบในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้จริงหรือไม่ และจะตอบโจทย์เรื่องพลังงานสะอาดได้มากน้อยแค่ไหน ตามเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการเผาไหม้ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างรุนแรง มีปริมาณมหาศาล และคงสภาพอยู่ในบรรยากาศได้ยาวนานนับร้อยปี

จุดประสงค์ของการนำเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสังเคราะห์มาใช้ ก็เพื่อลดผลกระทบที่สิ่งแวดล้อมและมนุษยชาติได้รับจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปัจจุบันโลกมีก๊าซชนิดนี้อยู่มากเกินไป จึงจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซชนิดนี้ และดึงเอาที่มีอยู่อย่างมหาศาลมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งเพลิงสังเคราะห์ก็ตอบโจทย์ ในแง่ที่ใช้วัตถุดิบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกกู้คืนกลับมาจากบรรยากาศ และก๊าซไฮโดรเจนที่ได้จากพลังงานหมุนเวียน โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ถูกนำมาใช้ มักมีปริมาณเท่ากับที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศ เชื้อเพลิงสังเคราะห์จึงปล่อยคาร์บอนต่ำ และมีความเป็นกลางทางคาร์บอน

โอกาสที่เชื้อเพลิงสังเคราะห์จะใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแพร่หลาย

แม้ว่าเชื้อเพลิงสังเคราะห์จะถูกมองว่านำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพมากพอ ด้วยข้อดีที่ไม่เพียงแค่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาใช้งานได้กับเครื่องยนต์สันดาปที่มีอยู่โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ ทั้งรถยนต์ เรือ และเครื่องบินในอุตสาหกรรมการบิน การขนส่งก็สามารถใช้โครงสร้างพื้นฐานของผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่มีอยู่เดิมได้ ทั้งถังเก็บหรือท่อส่ง ทำให้เชื้อเพลิงสังเคราะห์กลายเป็นผู้เล่นเชื้อเพลิงทางเลือกที่น่าสนใจที่จะพัฒนาให้สามารถนำมาใช้จริงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเชื้อเพลิงสังเคราะห์จะไม่มีข้อเสียเลย หลัก ๆ คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงมากเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล กลายเป็นความท้าทายหลักที่จะต้องลดต้นทุนการผลิตลงเพื่อรองรับการผลิตเชิงพาณิชย์ อีกทั้งเชื้อเพลิงสังเคราะห์ยังใช้พลังงานสูง ข้อมูลจากวารสาร Nature Climate Change ระบุว่า การใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์ในยานยนต์ ต้องใช้พลังงานหมุนเวียนมากกว่ารถพลังงานไฟฟ้าถึง 5 เท่า ในกระบวนการผลิตก็สูญเสียพลังงานไปเกือบร้อยละ 50 ของพลังงานที่ใช้ หากมองในแง่ของการประหยัดพลังงาน รถพลังงานไฟฟ้าจะประหยัดพลังงานมากกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาปที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงสังเคราะห์ประมาณ 4 เท่าเลยทีเดียว

แต่เพราะก้าวแรกมักมีอุปสรรคเสมอ หากสามารถเอาชนะความท้าทายเหล่านี้ได้ เชื้อเพลิงสังเคราะห์จะเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ใช้รถที่ยังคงใช้รถยนต์เครื่องยนต์สันดาปทันที แทนที่การเปลี่ยนไปใช้รถพลังงานไฟฟ้า ด้วยเป้าประสงค์ปลายทางที่เหมือนกัน คือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ขับเคลื่อนสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน

บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com

ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID : @apollothailand


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ