กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 48 ขยับขึ้นเล็กน้อย เหตุจากภาคอุตสาหกรรมปรับแผนกลยุทธ์รับมือราคาน้ำมันผันผวนได้ตรงจุดประกอบกับยอดคำสั่งซื้อในไตรมาส 3 เพิ่มขึ้น ตามปัจจัยบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับต่ำ
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนสิงหาคม2548 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 472 ตัวอย่าง ครอบคลุมทั้ง 33 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ระดับ 82.1 จาก 81.2 ในเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา สำหรับสาเหตุที่ทำให้ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณ 4 ใน 5 ปัจจัยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และ ผลประกอบการ (กำไรสุทธิ) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 95.2 93.9 99.2 และ 89.5 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 104.1 100.9 105.9 และ 89.7 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ขณะที่ ค่าดัชนีโดยรวมของต้นทุนการประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 47.8 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 46.9 ในเดือนสิงหาคม
เมื่อพิจารณาสาเหตุที่ทำให้ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2548 ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เนื่องมาจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อมั่นต่อบรรยากาศในการดำเนินกิจการในด้านต่างๆ อยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ค่าดัชนีปัจจุบันในแต่ละปัจจัยของเดือนสิงหาคมอยู่ในระดับทรงตัว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นว่าระดับอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงทรงตัวในระดับต่ำอยู่จะมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนและการลงทุนเพิ่มของกิจการมากยิ่งขี้น ทำให้สร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการได้ดีในระดับหนึ่ง
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยที่เหลือ มีค่าต่อไปนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ได้แก่ ดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และราคาขาย เพิ่มขึ้นจาก 89.7 118.0 90.1 และ 120.1 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 99.1 113.8 98.5 และ123.4 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ส่วนดัชนีโดยรวมของการจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต สินเชื่อในการประกอบการ และ สภาพคล่องของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 101.7 114.9 103.3 และ 84.4 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 109.5 118.3 106.5 และ 87.3 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ดัชนีโดยรวมต่อความสามารถในการแข่งขัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และ สภาวะของการประกอบการของกิจการ เพิ่มขึ้นจาก 93.5 86.1 97.6 และ 92.6 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 96.0 113.3 105.9 และ 99.4 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ สำหรับค่าดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ดัชนีโดยรวมของยอดขายในต่างประเทศ สินค้าคงเหลือ และการลงทุนของกิจการ ลดลงจาก 110.3 109.3 และ 110.7 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 104.4 108.6 และ 108.4 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุต-สาหกรรมฯ จำนวน 33 กลุ่ม พบว่า ค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนกรกฎาคมกับเดือนสิงหาคม 2548 มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 17 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 15 กลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เปลี่ยนแปลง 1 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม ซึ่งมีค่าดัชนีคงที่อยู่ที่ 164.9 ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมี 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ลดลงจาก 65.3 เป็น 48.0 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ลดลงจาก 85.9 เป็น 62.7 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น ลดลงจาก 110.0 เป็น 95.0 อุตสาหกรรมเซรามิก ลดลงจาก 136.7 เป็น 80.6 อุตสาหกรรม ยานยนต์ ลดลงจาก 75.2 เป็น 61.2 อุตสาหกรรมรองเท้า ลดลงจาก 75.2 เป็น 57.2 อุตสาหกรรมเครื่องหนังและผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 87.6 เป็น 52.4 และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ลดลงจาก 92.2 เป็น 84.0 ในทางกลับกัน มี 12 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ เพิ่มขึ้นจาก 65.1 เป็น 95.7 อุตสาหกรรมการพิมพ์ เพิ่มขึ้นจาก 39.1 เป็น 57.4 อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เพิ่มขึ้นจาก 75.4 เป็น 92.9 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยนต์ เพิ่มขึ้นจาก 60.2 เป็น 75.5 อุตสาหกรรมพลาสติก เพิ่มขึ้นจาก 46.6 เป็น 58.9 อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เพิ่มขึ้นจาก 69.0 เป็น 80.3 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เพิ่มขึ้นจาก 76.9 เป็น 89.2 อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ เพิ่มขึ้นจาก 94.5 เป็น 122.4 อุตสาหกรรมสิ่งทอ เพิ่มขึ้นจาก 84.4 เป็น 114.8 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพิ่มขึ้นจาก 44.9 เป็น 67.6 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มขึ้นจาก 81.3เป็น 106.7 และอุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ เพิ่มขึ้นจาก 82.7 เป็น 91.7 นอกจากนี้ จากค่าดัชนีความเชื่อมั่นเมื่อแยกพิจารณาในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าว พบว่า มีกลุ่มอุตสาหกรรม 26 กลุ่มที่มีค่าดัชนีในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมทั้ง 3 ขนาดยังคงมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 พร้อมกันเป็นเดือนที่ 4 นับจากเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 77.0 และ 90.3 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 88.9 และ 91.1 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมลดลงจาก 78.3 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 75.6 ในเดือนสิงหาคม
ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคม 2548 นับเป็นเดือนแรกที่ได้มีการแยกพิจารณาค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมตามภูมิภาค ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยค่าดัชนีเปรียบเทียบระหว่างเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2548 พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวสูงขึ้น จาก 80.4 และ 69.6 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 86.2 และ 74.3 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจาก 80.8 101.7 และ 82.4 ในเดือนกรกฎาคม เป็น 74.7 91.5 และ 76.3 ในเดือนสิงหาคม ตามลำดับ
สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีความคิดเห็นสอดคล้องกันโดยต้องการให้รัฐบาลดูแลระดับราคาน้ำมันและค่าบริการสาธารณูปโภคให้มีเสถียรภาพควบคู่กับการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทางเลือกเช่น ไบโอดีเซล และแก๊สโซฮอล์ เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ พร้อมทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาภาวะการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก และปัญหาความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1012-3 โทรสาร 0-2345-1296-9--จบ--