CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี แถลงความสำเร็จโครงการ Music Exchange ผลักดันอุตสาหกรรมดนตรีไทยสู่เวทีโลก ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี แถลงความสำเร็จโครงการ Music Exchange เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมดนตรีของไทย ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และยอมรับในระดับสากล ด้วยการเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างศิลปินไทยกับเวทีต่างประเทศ พร้อมทั้งกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจและสร้างเครือข่ายระหว่างศิลปินไทยกับผู้จัดเทศกาล ผู้คัดเลือกศิลปิน และเอเจนซี่จากเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระบวนการซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในเวทีโลก สำหรับงานแถลงข่าวในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมแถลงโครงการ พร้อมกับการจัดงานเสวนา "Music Exchange: Thai Music Wave to the World ขับเคลื่อนศิลปินไทยสู่เส้นทางสายอินเตอร์" จากเครือข่ายพันธมิตรค่ายดนตรีในประเทศ เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศ การกระจายเสียงวิทยุและการให้บริการข้อมูลข่าวสารภาครัฐ กรมประชาสัมพันธ์ ถนนวิภาวดีรังสิต
สำหรับความสำเร็จของโครงการ ประกอบด้วยการส่งศิลปินไทยไปร่วมแสดงผลงานในเทศกาลดนตรีที่ต่างประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 48 ศิลปิน/วง ทั้งหมด 46 เทศกาล พร้อมกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจที่ดึงดูดผู้จัดงานเทศกาลดนตรีนานาชาติและผู้คัดเลือกศิลปินจากต่างประเทศกว่า 75 รายเข้ามาเยี่ยมชมเทศกาลดนตรีในไทยในระหว่างเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2567 ตอกย้ำการผลักดันกระแส Thai Music Wave สู่ตลาดโลก ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาลในการใช้นโยบายซอฟต์พาวเวอร์เป็นหนึ่งในเครื่องมือการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษา คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "โครงการ Music Exchange นับเป็นอีกก้าวสำคัญตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ซึ่งจะเป็นกลไกสร้างการรับรู้เกี่ยวกับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ โดยรัฐบาลมุ่งส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) และยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทย ให้สร้างมูลค่า เสริมทักษะเดิม (Reskill) เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) เพื่อส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ"
"ประเทศไทยมีศักยภาพในการเติบโตด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ จากดัชนีของ Global Soft Power Index ในปี 2024 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 40 แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อม เนื่องจากมีต้นทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรที่หลากหลายและมีศักยภาพ รวมถึงด้านดนตรี ฉะนั้นโครงการ Music Exchange ที่ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี จะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศไทยในเวทีโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การทูต และวัฒนธรรม และสร้างแรงกระเพื่อมให้ Thai Music Wave เติบโตอย่างต่อเนื่องและเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงในตลาดสากล ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ค่ายเพลง และที่สำคัญที่สุดก็คือศิลปินไทย" นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่ม
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการทำหน้าที่ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า "เศรษฐกิจสร้างสรรค์นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย โดยเฉพาะในยุคที่นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยหลักในการแข่งขันระดับโลก ดังนั้น CEA จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลากหลายสาขาในทุกมิติ หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมดนตรี เนื่องด้วยอุตสาหกรรมดนตรีของไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 พันล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 จากปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของดนตรีไทย ดังนั้น CEA จึงได้กำหนดนโยบายสนับสนุนที่ครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงาน ไปจนถึงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมุ่งสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมอีกด้วย"
"เป้าหมายของ CEA คือการยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมดนตรีไทย ควบคู่ไปกับการสร้างการรับรู้และยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างกระบวนการซอฟต์พาวเวอร์ไทยในเวทีโลกผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมดนตรี การสนับสนุนการออกสู่ตลาดต่างประเทศของศิลปินไทย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยประเทศไทยมีเป้าหมายเป็นผู้นำด้านความหลากหลายทางดนตรีในสายตาชาวโลก โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี" นางกอบกาญจน์ กล่าวเพิ่ม
ด้าน ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า "โครงการ Music Exchange ที่ CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมศิลปินและธุรกิจเทศกาลดนตรีของไทยสู่ตลาดสากล รวมถึงมีเป้าหมายสนับสนุนศิลปินไทยในการสร้างปรากฏการณ์ Thai Music Wave สู่ตลาดโลก ผ่านกิจกรรมหลัก 2 ส่วน ได้แก่
สำหรับเป้าหมายในระยะยาว CEA ตั้งเป้าว่าภายในปี 2568 จะสามารถส่งศิลปินไทยเข้าร่วมเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติได้มากกว่า 100 การแสดง ครอบคลุมภูมิภาคเอเชียในประเทศเป้าหมายที่ภาคเอกชนไทยกำลังทำตลาดอยู่ เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย รวมทั้งยุโรป และอเมริกา ตลอดจนการสร้างโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ผ่านเทศกาลไทยในต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ CEA เชื่อมั่นว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้กับวงการดนตรีของไทย และสามารถสร้างกระแส Thai Music Wave สู่ตลาดโลก ได้มากกว่า 34.9 ล้านการรับชม
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Music Exchange และกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th และเฟซบุ๊ก Creative Economy Agency