"ครบรอบ 22 ปี มกอช. ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความยั่งยืนสู่สากล ภายใต้แนวคิด Go Green Go Global "
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดงานเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนา มกอช. ครบรอบ 22 ปี ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด "Go Green Go Global ขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความยั่งยืนสู่สากล" มุ่งเน้นการทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตร พร้อมกับสร้างระบบให้มีมาตรฐานและการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล ควบคู่กับการขับเคลื่อนนโยบาย "เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน" มุ่งยกระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการ เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เนื่องด้วยนโยบายของรัฐบาล "ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้" และนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ "เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน" โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานภายใต้นโยบายด้านการเกษตรทั้ง 9 นโยบาย คือ 1) สร้างวิธีการทำงานสู่การปฏิบัติ 2) เร่งรัดจัดที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร 3) บริหารจัดการน้ำ 4) ยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 5) ยกระดับศักยภาพของเกษตรกร และสถาบันเกษตรกรให้เข้มแข็ง 6) จัดการทรัพยากรทางการเกษตร 7) รับมือกับภัยธรรมชาติ สานต่อการทำสงครามสินค้าเกษตรเถื่อน และ 9) อำนวยความสะดวกด้านการเกษตร มกอช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีภารกิจหลักด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ทำหน้าที่กำหนด ส่งเสริม ควบคุม และดูแลระบบการตรวจสอบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค ตลอดจนการเจรจาแก้ไขปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน มีคุณภาพและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก สอดคล้องกับนโยบาลของรัฐบาลด้านการเกษตรในการยกระดับสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาและยกระดับเกษตรกร ผู้ประกอบการเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ผลิตและพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง รวมไปถึงการสร้างองค์ความรู้ และการตระหนักรู้ถึงสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ ผ่านตราสัญลักษณ์ Q เพื่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรที่ดีขึ้น รวมไปถึงการสร้างสังคมและทรัพยากรเกษตรที่ยั่งยืน
ทั้งนี้สิ่งที่ต้องเร่งรัดคือ ในเรื่องการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรนั้น ขอให้ มกอช.เป็นหน่วยงานในลักษณะของที่ปรึกษา หรือเป็นหน่วยงานที่ ออกหลักเกณฑ์ ส่วนการตรวจ การรับรอง พยายามจะถ่ายโอนให้เป็นเอกชน หรือสถาบันการศึกษา ที่มีความพร้อม ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี การใช้ระบบดิจิทัล ทดแทนในการทำงาน การใช้แอปฯต่าง ๆ ในการทำงาน เพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็ว ทั้งการขอใบอนุญาต และการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องการติดขัดด้านเอกสาร ซึ่งให้มีการเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ และยังให้เน้นเรื่องของสินค้ามูลค่าสูงโดย 1 ท้องถิ่น 1 สินค้ามูลค่าสูง มีครอบคลุมทั้งประเทศ โดยจะนำมาดำเนินการให้เกิดคุณภาพ รวมไปถึงการส่งออก พร้อมขอความมือว่าสินค้าโครงการหลวงและสินค้าพื้นที่สูง ขณะนี้มีมากมาย ที่ต้องเร่งดำเนินการช่วยนำสินค้าออกมาจำหน่ายในประเทศ และส่งออก นอกจากการได้ช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่สูง หรือชนเผ่าๆ ต่างๆ มีรายได้อย่างยั่งยืนแล้ว ก็ยังเป็นการป้องกันปัญหาน้ำท่วม ดินถล่มได้ด้วย เพราะจะไม่เกิดการทำลายป่า
สำหรับงานสถาปนา ครบรอบปีที่ 22 มกอช. จัดขึ้นภายใต้ธีม "Go Green Go Global: ขับเคลื่อนมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความยั่งยืนสู่สากล" เพื่อตอกย้ำถึงแนวทางการดำเนินงานของ มกอช. ที่มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจตามนโยบายของรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกทั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยกระดับพัฒนางานด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย
Go Green การทำการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน มกอช. ได้จัดทำมาตรฐานสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน เพื่อให้ระบบการผลิต การแปรรูป การจัดจำหน่ายผลผลิต คำนึงและรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศ สภาพแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนพัฒนางานด้านการมาตรฐานตามหลัก BCG Model เพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณภาพ (Value Chain) ให้เติบโต
Go Global การสร้างระบบให้มีมาตรฐาน สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการยอมรับสู่สากล: มกอช. ได้ดำเนินการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับภาคการผลิต และการตรวจรับรองมาตรฐาน รวมถึงการควบคุมและตรวจติดตามอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ มาตรฐาน และความปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยใช้สัญลักษณ์ Q ที่แสดงถึงผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ ความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรฐานระบบการผลิต ได้แก่ มาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ (มกษ. 9070 - 2566): ล้งทุเรียน ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2568 ระบบการรับรองผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่โดยการประยุกต์ใช้ระบบการประเมินผู้ส่งมอบ (Supplier Audit) กระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟ ระบบการควบคุม กำกับดูแล และตรวจสอบด้านมาตรฐานบังคับ ซึ่งได้แก่ โครงการกำกับดูแลสินค้าเกษตรตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 โครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ โครงการเฝ้าระวังความปลอดภัยในสินค้าเกษตรตามมาตรฐานทั่วไป การตรวจสอบการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การขออนุญาตและการแจ้งนำเข้าส่งออก ผ่านระบบ TAS-License การสร้างช่องทางออนไลน์ในการจำหน่ายสินค้าเกษตรมาตรฐานผ่านเว็บไซต์สินค้าเกษตรมาตรฐาน-ออนไลน์ (DGTFarm) และระบบตามสอบสินค้าเกษตรระบบคลาวด์ (QR Trace on Cloud)