หวั่นไทยเสียตลาดหากไม่มีเอฟทีเอไทย — สหรัฐฯ “นิตย์” ยัน พร้อมปกป้องสิทธิการเข้าถึงยาของคนไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 14, 2005 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ย.--กระทรวงการต่างประเทศ
หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย — สหรัฐฯ หวั่นไทยเสียโอกาสทางธุรกิจให้กับประเทศคู่แข่ง หากไร้เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ระบุต้องเจรจาเพื่อให้ประเทศปรับตัวทันโลก แต่หากการเจรจาไม่ยุติธรรมก็ไม่ต้องลงนาม
เผยความคืบหน้าการเจรจาที่ผ่านมา 4 รอบ สหรัฐฯ รับข้อเสนอแก้อุปสรรคทางการค้าเพื่อเปิดตลาดผลไม้และไก่ต้มสุกไทย และฝ่ายไทยสามารถยื่นมาตรการชะลอผลกระทบกรณีสินค้าเกษตรสหรัฐฯ เข้าตลาดไทยได้ด้วย
ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยายังไม่มีการหารือ แต่หากมีจะต้องไม่สร้างปัญหาการเข้าถึงยาของคนไทย ซึ่งคณะเจรจาพร้อมปกป้องสิทธิคุ้มครองประชาชนคนไทยตามกรอบเจรจารอบโดฮา
นายนิตย์ พิบูลสงคราม หัวหน้าคณะเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย — สหรัฐฯ กล่าวในงานสัมมนา “ข้อเสนอแนะต่อการเจรจาข้อตกลงเขต
การค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ซึ่งจัดโดย คณะอนุกรรมการทรัพยากรชีวภาพและทรัพย์สินทางปัญญา ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา กรรมาธิการการพัฒนาสังคม วุฒิสภา มูลนิธิเกษตรยั่งยืน และ FTA Watch วันนี้ (13 กันยายน 2548) ว่า หากประเทศไทยไม่เจรจาเปิดเสรีกับสหรัฐฯ เราอาจจะเสียตลาดส่งออกมูลค่ามหาศาลให้กับประเทศคู่แข่งที่อาจจะเจรจากับสหรัฐฯ เช่นกัน ดังนั้นเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเจรจา และสร้างความได้เปรียบทางการค้า โดยเฉพาะการขจัดอุปสรรคที่เป็นมาตรการที่มิใช่ภาษี ซึ่งจากการเจรจา 4 รอบที่ผ่านมา สหรัฐฯ เองก็ยอมรับข้อเสนอสำคัญๆ ของฝ่ายไทยแล้ว โดยเฉพาะเรื่องการให้มีกลไกถาวรเพื่อหารือแก้ไขมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์
“ หากเราไม่ได้เจรจากับเขาเลย เราก็จะไม่รู้ว่าสหรัฐฯ สนใจที่จะแก้ปัญหามาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์มากเพียงใด โดยเขายอมรับให้มีการจัดตั้งกลไกเพื่อแก้ไขอุปสรรคนี้ ซึ่งมิใช่เป็นแค่การเปิดโอกาสให้ผลไม้ไทย 6 ชนิดเท่านั้น (มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ ลำไย เงาะ สับปะรด) แต่จะครอบคลุมการแก้ไขมาตรการสุขอนามัยให้กับสินค้าเกษตรของไทย ทั้งหมดที่เคยติดขัดมาตรการดังกล่าว หรือหากมีปัญหาในอนาคต” นายนิตย์กล่าว
สำหรับข้อกังวลเรื่องการที่สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะโคเนื้อ โคนม จะเข้ามาแย่งตลาดในประเทศไทยนั้น นายนิตย์กล่าวว่า คณะเจรจาฝ่ายไทยมีมาตรการชะลอความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าว อาทิ มาตรการ Special Safeguard และการยืดระยะเวลาการลดภาษีออกไป เพื่อมิให้เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบในขณะที่ยังไม่มีความพร้อม
ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องการอุดหนุนสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ นั้น นายนิตย์กล่าวว่า เรื่องการอุดหนุนภายในต่อสินค้าเกษตรบางรายการของสหรัฐฯ อาทิ ข้าวโพด ถั่วเหลือง อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ผลิตพืชผลดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลดีต่อกสิกร เพราะสินค้าบางรายการที่สหรัฐฯ ให้การอุดหนุน เป็นสินค้าที่ไทยนำเข้าจำนวนมากเพื่อมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งหากการเจรจาไทย-สหรัฐฯ ทำให้ภาษีนำเข้าลดลง ก็จะเกิดประโยชน์ต่อผู้ผลิตสินค้าอาหารสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย
นอกจากนี้ คณะเจรจาฝ่ายไทยยังได้ผลักดันให้สหรัฐฯ ร่วมกันจัดตั้งกลไกเพื่อแก้ไขปัญหามาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จ รองเท้า อัญมณี และรถปิคอัพของไทยได้ประโยชน์
พร้อมปกป้องสิทธิการเข้าถึงยาของคนไทย
สำหรับการเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงที่ผ่านมา 4 รอบนั้น มีการหารือ 3 เรื่อง คือการบังคับใช้กฎหมาย ลิขสิทธิ์ และเครื่องหมายทางการค้า ส่วนเรื่องสิทธิบัตรยายังไม่มีการหารือ และฝ่ายสหรัฐยังไม่ได้เสนอทั้งในเรื่องสิทธิบัตรยาและสิทธิบัตรพันธุ์พืช แต่เชื่อว่าสหรัฐรู้ดีว่าเราเป็นกังวลเรื่องเหล่านี้ และสหรัฐฯ อาจจะปรับปรุงข้อเสนอในเรื่องนี้ให้แตกต่างจากที่สหรัฐฯ เคยทำกับประเทศอื่นๆ มาแล้ว
“ เรื่องสิทธิบัตรยา ทีมเจรจาฝ่ายไทยมีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะต้องไม่กระทบต่อการเข้าถึงยาของประชาชนไทย และจะต้องเป็นไปตามกรอบการเจรจาการค้าเสรีรอบโดฮา ที่แต่ละประเทศสามารถยืนยันสิทธิในการใช้มาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนได้ “ นายนิตย์กล่าว
ในขณะเดียวกัน การเจรจาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเองด้วย เช่น ธุรกิจดนตรี และภาพยนตร์ของไทยที่เริ่มจะได้รับความนิยม รวมทั้งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุนของต่างประเทศ หากมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีมาตรฐาน
“การเจรจามีทั้งได้ ไม่ใช่ว่าเราจะเสียฝ่ายเดียว คณะเจรจาจะทำให้ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของประเทศไทยและคนไทย ซึ่งคณะเจรจาจะยึดตามมติคณะรัฐมนตรีว่า การจัดทำเขตการค้าเสรีไทยสหรัฐต้องอยู่บนพื้นฐานความยุติธรรม เอื้อประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน และยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย ซึ่งอาจใช้ระยะเวลายาวนานพอสมควร และหากไม่เป็นไปตามข้างต้น ก็ไม่สามารถจะลงนามได้” หัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ กล่าว
ยันไม่มีค่าปรับคุ้มครองแรงงาน — สิ่งแวดล้อม
สำหรับเรื่องการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายเข้าใจว่า สหรัฐฯเสนอให้ใช้กฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐนั้น ความจริงแล้วสหรัฐฯ ไม่ได้เรียกร้องเรื่องการคุ้มครองแรงงานและสิ่งแวดล้อมตามกรอบกฎหมายของสหรัฐเลย เพียงแต่ขอให้ เรื่องดังกล่าวดำเนินการไปตามกฎหมายที่เรามีอยู่ คือมีอยู่อย่างไรก็ขอให้บังคับใช้ได้ตามนั้นจริง แต่หากมีการละเมิดกฎหมายแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างซ้ำซาก ประเทศไทยจะต้องจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งซึ่งมีความเข้าใจผิดว่าเป็นค่าปรับให้สหรัฐฯ ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นการนำมาใช้ในกองทุนการพัฒนาแรงงานและสิ่งแวดล้อมของไทยเอง ซึ่งเงินจำนวนนั้นก็จะอยู่ในมือของรัฐบาลไทยที่จะนำมาปรับปรุงเรื่องแรงงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ