SCB CIO แนะจับตา 3 ปัจจัยหลักหนุนตลาดการเงินผันผวนในเดือนตุลาคมนี้ ได้แก่ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 2)รายงานผลประกอบการไตรมาส3/2567 และ 3)ความกังวลก่อนการเลือกตั้งสหรัฐฯ มองตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสปรับฐาน ช่วงก่อนการเลือกตั้ง และมีแนวโน้มปรับขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้ง
แนะใช้กลยุทธ์ Stay Invested หาจังหวะลงทุน โดย Core portfolio เน้นหุ้นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น จีน A-share ไทย และทองคำ ส่วน Opportunistic Portfolio แนะลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ขนาดเล็ก เช่น Russell 2000 มองValuation ยังถูกกว่าดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ รวมทั้งหุ้นเวียดนาม และไทย ด้านตราสารหนี้ แนะลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้ต่างประเทศ Investment Grade อายุ 2- 4 ปี อัตราผลตอบแทนประมาณ 3.8% - 4.5% ต่อปี
นายศรชัย สุเนต์ตา, CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดการเงินในเดือน ต.ค. นี้ มีแนวโน้มผันผวนเพิ่มขึ้น และเสี่ยงต่อการปรับฐาน จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงขึ้น ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และตะวันออกกลาง ระหว่างอิสราเอล-อิหร่าน 2) การรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3/2567 ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเติบโตแผ่วลงเมื่อเทียบเป็นรายปี และอาจสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน ท่ามกลาง Valuation ที่ตึงตัว และ 3) ความกังวลของนักลงทุน บนความไม่แน่นอนด้านนโยบายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เมื่อเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. นี้
SCB CIO มองว่า ความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มขึ้น เป็นโอกาสใช้กลยุทธ์ Stay Invested หรือการลงทุนอย่างต่อเนื่องในสินทรัพย์ที่น่าสนใจ ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการที่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงแบบจัดการได้ (Soft Landing) จะช่วยสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ด้วย Valuation บนดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับที่สูงมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยในอดีต ทำให้นักลงทุนสามารถรอจังหวะตลาดปรับฐานเพื่อเข้าลงทุน ทั้งพอร์ตหลักระยะยาว (Core Portfolio) และ พอร์ตเสริมระยะสั้น (Opportunistic Portfolio) ได้
จากสถิติในอดีต ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มผันผวนสูงและปรับตัวลดลง ในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 1-2 เดือน รวมถึงเดือนที่จัดการเลือกตั้งด้วย แต่ตลาดฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นหลังทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่าพรรคใดจะได้รับชัยชนะ จึงเป็นโอกาสสะสมเมื่อตลาดอ่อนตัว
สำหรับการลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯบนพอร์ตหลัก เราแนะนำให้ลงทุนแบบ Barbell Strategy โดยลงทุนทั้งหุ้นกลุ่ม Defensive ที่ค่อนข้างทนทานทุกสภาวะ เช่น กลุ่มสาธารณูปโภค สุขภาพ และสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็น รวมทั้งหุ้นกลุ่ม Quality Growth เช่น กลุ่มบริการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยในกรณีที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง สามารถลงทุนในดัชนีหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ (Russell 2000) บนพอร์ตเสริมได้ เนื่องจาก Valuation ถือว่ายังถูกกว่าดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ และเป็นดัชนีหุ้นที่มีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่มาจากในสหรัฐฯ จึงได้ประโยชน์จากตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งกว่าคาด มากกว่าดัชนีหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 40% อยู่นอกสหรัฐฯ
ในส่วนของตลาดหุ้นยุโรปมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากการที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีแนวโน้มเร่งลดดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยหนุน Valuation ตลาดฯ ที่ยังไม่แพง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับฝั่งสหรัฐฯ ขณะที่ ตลาดฯ อาจได้อานิสงส์ทางอ้อมจากการที่จีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มีความไม่แน่นอนในฝรั่งเศส ที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรี มีแผนขึ้นภาษีนิติบุคคล และความเสี่ยงที่กำไรต่อหุ้น (EPS) ของตลาดฯ จะถูกปรับลดลง เราจึงแนะนำให้เน้นลงทุนระยะยาวกลุ่ม Quality Growth ที่มีความสามารถในการทำกำไรสูง และมีงบดุลที่ดี ภายใต้ Core Portfolio แต่ไม่แนะนำลงทุนระยะสั้นบน Opportunistic Portfolio
ส่วนตลาดหุ้นญี่ปุ่น ยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุนในตลาดโดยรวม เนื่องจากมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดัน จากความเสี่ยงที่บริษัทจดทะเบียนญี่ปุ่นจะเริ่มปรับลดประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS guidance) ตามความกังวลการแข็งค่าของเงินเยน ในช่วงการรายงานงบการเงินที่จะเริ่มปลายเดือน ต.ค. นอกจากนี้ ตลาดฯ ยังมีแนวโน้มผันผวนสูงจากความไม่แน่นอนการเมืองทั้งในญี่ปุ่น ที่มีการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 27 ต.ค. และในสหรัฐฯ ที่มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี วันที่ 5 พ.ย. อย่างไรก็ตาม นักลงทุนสามารถทยอยลงทุนระยะยาวในหุ้นญี่ปุ่นกลุ่ม Quality Growth ภายใต้ Core portfolio ได้
นอกจากนี้ เราแนะนำให้ลงทุน ในตลาดหุ้นจีน A-Shares บน Core Portfolio เนื่องจากการออกมาตรการกระตุ้นต่างๆ ของทางการจีนรอบล่าสุด จะช่วยลดความเสี่ยงขาลงของเศรษฐกิจจีน และช่วยหนุน Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นจีน โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน A-Shares ที่จะได้อานิสงส์โดยตรงจากมาตรการกระตุ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว และมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบจากปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่จำกัดกว่าตลาดหุ้นจีน H-Shares อย่างไรก็ตาม เรายังไม่แนะนำให้ลงทุนระยะสั้นในหุ้นจีน บน Opportunistic Portfolio เนื่องจาก มีความเสี่ยงที่หุ้นจีน อาจพักฐาน จากแรงขายทำกำไรเมื่อใกล้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกอบกับ นักลงทุนอาจชะลอการซื้อขาย รอดูความชัดเจนที่มากขึ้นของมาตรการการคลัง ในช่วงการประชุม NPC Standing Committee สิ้นเดือน ต.ค.นี้ นอกจากนี้ มีความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์ สรอ. จะกลับมาแข็งค่าเทียบเงินหยวน หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มออกมาดีกว่าคาด และจากประเด็นการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนที่ยังมีอยู่
สำหรับตลาดหุ้นไทย เราแนะนำให้ลงทุนทั้งใน Core Portfolio และ Opportunistic Portfolio จากภาพรวมเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวจากการที่รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และเริ่มดำเนินนโยบายการคลังต่างๆ เช่น การแจกเงินสด 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในประเทศ และเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี เป็นต้น ขณะที่ สถานการณ์การเมืองในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังจากการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อเดือน ก.ย. ทำให้การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมีความต่อเนื่อง ส่วนภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกไทย ยังได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน นอกจากนี้ SCB CIO คาดหวังว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาส 4/2567 ตามการลดดอกเบี้ยของ Fed และจะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 2.0% ภายในต้นปี 2568 ซึ่งจะช่วยหนุนภาคการลงทุน และการบริโภคภายในประเทศได้
ด้านเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาทองคำโลกที่เพิ่มขึ้น อาจสร้างแรงกดดันให้ภาคส่งออกและการท่องเที่ยวจำกัด แต่ช่วยสนับสนุนเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ยังคงต้องติดตามต่อไป ซึ่งคาดว่า จะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ แต่มีแนวโน้มค่อยๆ คลี่คลายลง เบื้องต้นคาดว่า ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างจำกัด ประกอบกับ รัฐบาลมีแนวโน้มออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ เรายังแนะนำให้เน้นลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม สำหรับ Opportunistic Portfolio เพราะมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยการส่งออก และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) ที่ไหลมาจากจีน หลังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และการเตรียมยกเลิกกฎ Pre-funding หรือการซื้อขายที่บังคับให้นักลงทุนต้องมีเงินสดในบัญชีเพียงพอต่อการซื้อขายหลักทรัพย์ 1 วันก่อนทำธุรกรรมบนตลาดหุ้น มีแนวโน้มส่งผลให้การอัพเกรดสถานะตลาดหุ้นจากตลาดชายขอบ (Frontier Market) สู่ตลาดประเทศเกิดใหม่ (Emerging Market) ของเวียดนามมีความชัดเจน และดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามได้อย่างมีนัย
การลงทุนในตราสารหนี้ SCB CIO มองว่า เส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ยังมีโอกาสเป็น Bull-Steepening คือ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นลดลงเร็วกว่าพันธบัตรระยะยาว หรือ Yield Curve ปรับเพิ่มความชันขึ้น ในกรอบประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม อาจมีช่วงที่ Yield Curve ของสหรัฐฯ ปรับตัวเป็นแบบแบนราบขึ้นชั่วคราว เนื่องจาก การคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่เกินจริง นอกจากนี้ เรายังระมัดระวังว่า อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) ระยะยาว มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นเร็วจากความเสี่ยงที่สำคัญคือ การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่อาจทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณหรือเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเข้า ซึ่งอาจกดดันให้ Bond Yield ระยะยาวเพิ่มขึ้นในช่วงสั้นได้เช่นกัน เราจึงยังแนะนำให้ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (UST) และหุ้นกู้ต่างประเทศคุณภาพสูง Investment Grade อายุ 2- 4 ปี ซึ่งให้อัตราผลตอบแทนในกรอบ 3.8% - 4.5% ในปัจจุบัน
ขณะที่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ มีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ผ่านราคาน้ำมัน แต่เรามองว่า ผลกระทบอาจไม่ได้อยู่ยาวนานนัก ท่ามกลางอุปสงค์ที่ชะลอตัว ขณะที่ อุปทานส่วนเกินยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เราจึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนในน้ำมัน แต่เราแนะนำให้ลงทุนทองคำบน Core Portfolio เนื่องจากมองว่า ราคาทองคำ ยังมีแนวโน้มได้แรงหนุนจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันแนะนำให้ลงทุนในทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) ทั้งในสหรัฐฯ และ ไทย โดยเรามองว่า ด้วยแนวโน้มวงจรดอกเบี้ยขาลง จะเป็นปัจจัยบวกต่อการประเมินมูลค่า REITs และส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนจาก REITs เทียบกับพันธบัตรรัฐบาล (Yield Spread) ประกอบกับปัจจัยพื้นฐานของ REITs ยังดี ขณะที่ Valuation ยังอยู่ในระดับที่ไม่แพง
อย่างไรก็ตาม การลงทุนบน Core Portfolio ควร Stay Invested และกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เน้นตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์หลัก คือ 1) เพื่อสร้างกระแสเงิน 2) เพื่อสร้างการเติบโต และ 3) เพื่อป้องกันความเสี่ยงพอร์ตลงทุนรวม จากเงินเฟ้อ และความเสี่ยงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ขณะที่ Opportunistic Portfolio เหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลางถึงสูง เป็นการลงทุนเสริมจากพอร์ตหลักในสินทรัพย์แบบเฉพาะเจาะจง เน้นเพิ่มโอกาส ตามสถานการณ์