ฟิลิปส์ หวังช่วยสนับสนุนแพทย์โรคหัวใจในพื้นที่ห่างไกล เชื่อมต่อการดูแลรักษาผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ข่าวทั่วไป Wednesday October 16, 2024 13:28 —ThaiPR.net

ฟิลิปส์ หวังช่วยสนับสนุนแพทย์โรคหัวใจในพื้นที่ห่างไกล เชื่อมต่อการดูแลรักษาผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ

นอกจากความก้าวหน้าของเครื่องมือทางการแพทย์แล้ว เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ Health Informatics ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญสำหรับระบบสาธารณสุข เพราะการจัดเก็บข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลมารวมกันอย่างเป็นระบบ การประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ รวมถึงความสามารถในการเรียกดูข้อมูลจากที่ใดก็ได้ ล้วนช่วยสนับสนุนกระบวนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดภาระงาน เพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย ส่งผลให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ยังคงเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุข อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ระบุว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโลก สำหรับประเทศไทยอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดอยู่ที่ 48.7 ต่อ 100,000 ประชากร (กรมควบคุมโรค, 2559) และมีความชุกของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 1,396.4 ต่อ 100,000 ประชากร (กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค, 2561) โดยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจมีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

ฟิลิปส์ ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาเพื่อช่วยสนับสนุนการทำงานของอายุรแพทย์โรคหัวใจ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล หวังให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงระบบสาธารณสุขมากขึ้น ในขณะที่การนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในระบบโรงพยาบาลให้มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีการให้ความรู้และฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ฟิลิปส์ จึงได้ร่วมกับศูนย์หัวใจภาคเหนือ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และงานประชุมวิชาการด้านโรคหัวใจ (Chiangmai Cardiology Conference; CMCC) จัด "การอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในเชียงใหม่และภาคเหนือเกี่ยวกับการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) และการใช้ระบบสารสนเทศด้านโรคหัวใจ (Cardiology Informatics)"

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์กฤษณ์ ลีมะสวัสดิ์ อาจารย์ประจำหน่วยวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า "เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางมีจำนวนจำกัด ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยมากขึ้นทุกปี ส่งผลให้ผู้ป่วยต้องรอคิวในการเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นเวลานาน และอาจมีความลำบากในการเดินทางเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ในขณะที่เทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศ สามารถช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ หากมีการนำระบบสารสนเทศมาใช้ในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล จะทำให้แพทย์ประจำโรงพยาบาลเครือข่ายสามารถปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางในโรงพยาบาลใหญ่ได้ และสามารถลำดับความเร่งด่วนของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา ส่งผลให้การบริหารจัดการผู้ป่วย และกระบวนการดูแลรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างความแข็งแรงให้กับเครือข่ายสาธารณสุข เราจำเป็นต้องคอยยกระดับความรู้และพัฒนาทักษะของบุคลากรอยู่เสมอ จึงได้จัดงานอบรมเชิงปฏิบัตินี้ขึ้น เพื่อพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถนำความรู้และเทคนิคการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ไปประยุกต์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการดูแลรักษาผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่"

เทคโนโลยีสารสนเทศด้านโรคหัวใจของฟิลิปส์ (IntelliSpace Cardiovascular; ISCV) เป็นเทคโนโลยีด้านการจัดเก็บและการประมวลผลข้อมูลทางด้านโรคหัวใจ โดยสามารถเชื่อมต่อข้อมูลได้จากหลายแหล่ง และหลายเครื่องมือที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram), เครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram; ECG), เครื่องเอกซเรย์สำหรับใช้วินิจฉัย และให้การรักษาสำหรับหัตถการด้วยการสวนหัวใจ (Cardiac Catheterization Laboratory) หรือเครื่องตรวจอื่น ๆ ที่ใช้สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด อาทิ เครื่องตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (Magnetic Resonance Imaging; MRI) และเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Scan)

เป็นต้น และยังมีระบบช่วยประมวลผลข้อมูลเพื่อสนับสนุนการวินิจฉัยทางคลินิก ช่วยให้แพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้ในจุดเดียว และยังเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างแผนกต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลได้ด้วย นอกจากนี้ ระบบสารสนเทศด้านโรคหัวใจของฟิลิปส์ยังมีคุณสมบัติพิเศษในการเชื่อมต่อข้อมูลแบบ Real-time ทำให้แพทย์ที่ตรวจผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลห่างไกล สามารถปรึกษากับแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ได้ทันที

ด้านนายวิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า "ฟิลิปส์ เราให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และการพัฒนาการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้นอยู่เสมอ เราจึงได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์อย่างไม่หยุดยั้ง ที่ผ่านมาเราได้นำเสนอความล้ำสมัยของเทคโนโลยีทางการแพทย์ผ่านเครื่องมือแพทย์ของเรา แต่ในโลกแห่งดิจิทัลและการดูแลรักษาโรคหัวใจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ เราจึงพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการดังกล่าว และเราก็เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทย โดยไม่เพียงแต่ความล้ำสมัยของเทคโนโลยีในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลเท่านั้น แต่เรายังให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ป่วยด้วย เพื่อให้บุคลากรทางแพทย์และโรงพยาบาลมีความมั่นใจในการนำเทคโนโลยีของเราไปใช้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ