ส.อ.ท. จับมือกระทรวงพลังงาน จัดงาน Energy Symposium 2024 ผลักดันการปรับตัวภาคอุตฯ สู่การเปลี่ยนผ่าน "ความเป็นกลางทางคาร์บอน"

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 17, 2024 14:39 —ThaiPR.net

ส.อ.ท. จับมือกระทรวงพลังงาน จัดงาน Energy Symposium 2024 ผลักดันการปรับตัวภาคอุตฯ สู่การเปลี่ยนผ่าน

สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2024 ภายใต้หัวข้อ "การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับแผนพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่ Carbon Neutrality" เพื่อให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบสถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจและพลังงาน พร้อมแนวทางการปรับตัวภายใต้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่กระทรวงพลังงานกำลังนำมาใช้ผลักดันให้ประเทศมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

นายประสงค์ อินทรหนองไผ่ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจ ภาวะโลกร้อนที่ก้าวเข้าสู่ภาวะโลกเดือด และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานโลก และนับเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะพลังงานถือเป็นปัจจัยหลักในการดำเนินงานและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายอย่างเร่งด่วน รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) จะมีส่วนช่วยอุตสาหกรรมก้าวสู่การแข่งขันอย่างยั่งยืนในอนาคตได้

ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะตัวแทนภาคอุตสาหกรรมที่มีบทบาทในการสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม เล็งเห็นถึงความสำคัญของสถานการณ์ด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ส.อ.ท. จึงได้มียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย ONE FTI (One Vision, One Team, One Goal) โดยเน้นการขับเคลื่อน First Industries หรืออุตสาหกรรมเดิมและขยายผลสู่ Next-GEN Industries ใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curves) ที่ขับเคลื่อนด้วย BCG Model (Bio-Circular-Green) ที่เป็นทิศทางของโลกในปัจจุบัน
โดยภาคอุตสาหกรรมต้องมีการเตรียมความพร้อมและรับมือต่อผลกระทบจากมาตรการภายใต้กรอบนโยบายจากต่างประเทศ ที่มาในรูปแบบต่างๆ เช่น Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป (EU) ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยและอีกหนึ่งแนวทางขับเคลื่อนผู้ประกอบการสู่ Smart SMEs ผ่าน 4GO ประกอบไปด้วย

  • Go Digital & AI ภายใต้โครงการ "Digital One" เพื่อช่วยยกระดับ SMEs ทั่วประเทศ โปรแกรมด้านต่างๆ ที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และช่วยลดรายจ่าย ตรงนี้เป็นนโยบายเชิงรุกที่จะช่วยยกระดับให้เป็นสมาร์ทเอสเอ็มอี (Smart SMEs) ได้เร็วขึ้น
  • Go innovation เป็น SMEs "จิ๋วแต่แจ๋ว" ในส่วนของ ส.อ.ท. ได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดตั้งกองทุนนวัตกรรมที่เรียกว่า "Innovation One" หรือโครงการกองทุนอินโนเวชั่นวันโดยกระทรวง อว. ได้ให้งบสนับสนุน 1,000 ล้านบาท และ ส.อ.ท. สมทบอีก 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 2,000 ล้านบาท ในกรอบระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพ (Startup) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า
  • Go Global จะผลักดันผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถผลิตและขายสินค้าไปต่างประเทศได้ในมาตรฐานที่ต่างประเทศยอมรับ หากเป็น SMEs ที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของผู้ส่งออกต่างชาติที่มาตั้งฐานผลิตในไทย จะผลักดันให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อยกระดับมาตรฐานตัวเองไปกับสินค้าต่างๆ
  • Go Green จะผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs ผลิตสินค้าและมีกระบวนการทั้งหมดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ คือ สินค้าที่ทั้งโลกต้องการและขยายตัวต่อเนื่อง เพื่อให้เสริมสร้างขีดความสามารถทางแข่งขันในระดับสากลได้
  • นอกจากนี้ ส.อ.ท. ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน ในการขับเคลื่อนแนวทางการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้วยดีมาอย่างต่อเนื่อง อาทิเช่น ดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆ ให้กับสมาชิก ส.อ.ท. เพื่อผลักดันและจูงใจให้มีการอนุรักษ์พลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงส่งเสริมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มมูลค่า ตลอดจนส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน (Renewable Energy) ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อมุ่งเน้นการผลิตที่ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมการอบรมและสัมมนา รวมทั้งผลิตสื่อเผยแพร่ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรม

    นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราจะได้ยินเรื่องการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ที่หมายถึง การพยายามทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ เป็นกลาง ให้มีความสมดุลกันระหว่างการปล่อยและการดูดกลับด้วยการอนุรักษ์และปลูกป่าไม้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากการผลิตการใช้พลังงานในทุกภาคส่วน ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 20 ของโลก จากทั้งหมด 198 ประเทศ (Climate Watch Data, 2020) ซึ่งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากภาคพลังงานประมาณร้อยละ 70 จากการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่งรวมกัน


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ